Assabikoon กลุ่มชนแนวหน้า

Just another WordPress.com weblog

วิเคราะห์หลักฐานเรื่อง การกินเลี้ยงบ้านผู้ตาย กรกฎาคม 29, 2009

A photo of of a delicious looking Tom Yum Talay, you can see prawns, squid, mushrooms, onions, tomatoes, chilies and of course the soup itself.

วิเคราะห์หลักฐานเรื่อง การกินเลี้ยงบ้านผู้ตาย

โดย อ.ปราโมทย์ ศรีอุทัย

วิเคราะห์หลักฐานเรื่อง การกินเลี้ยงบ้านผู้ตาย

ปัญหาเรื่องบ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหาร  เพื่อส่งผลบุญให้แก่ผู้ตาย ซึ่งชาวบ้านทั่วๆไปจะเรียกกันว่า  ทำบุญบ้านคนตาย, — [ทั้งๆที่ตามทัศนะของนักวิชาการทั้ง 4  มัษฮับเห็นพ้องกันว่า เรื่องนี้ ผู้กระทำจะไม่ได้รับผลบุญดังความเข้าใจ แต่เป็นเรื่องของ “บาป” เพราะเป็นอุตริกรรม (บิดอะฮ์) ที่น่ารังเกียจและไม่สมควรกระทำ ดังจะได้อธิบายรายละเอียดต่อไป] – นั้น เป็นปัญหาขัดแย้งที่แพร่หลายมากในปัจจุบัน,   โดยเฉพาะในประเทศไทยทั้งภาคกลางและภาคใต้ จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชาวบ้านที่ขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องศาสนา   แต่มีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นสืบต่อกันมาว่า  การเลี้ยงอาหารให้ญาติพี่น้องที่ตายไปเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ทำได้,    และผู้ตาย ก็จะได้รับผลบุญ (ตามความเข้าใจของตน) จากการเลี้ยงอาหารให้นั้น …

แน่นอน !  เมื่อมีผู้คัดค้านว่า   การเลี้ยงอาหารบ้านผู้ตายทำไม่ได้  เพราะไม่มีหลักฐาน,   (หรือบางคนกล่าวคำหนักถึงขั้นประณามว่า เป็นบิดอะฮ์ เฎาะลาละฮ์)  จึงสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านที่นิยมกระทำสิ่งนี้อยู่  จนเกิดความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเองในหมู่บ้าน  หรือถึงขั้นแยกมัสญิดกันก็มีหลายแห่งเพราะเรื่องนี้ …

ยิ่งกว่านั้น   ปรากฏว่ามีผู้รู้บางท่าน —  ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะครูในยุคเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้ หรือนักเรียนที่เรียนจบมาจากต่างประเทศ,  โดยเฉพาะ จากประเทศอียิปต์ในปัจจุบันบางท่าน — ซึ่งมักจะพูดอยู่เสมอว่า  ตนเอง เป็นเพียง  “มุก็อลลิด”  (คือผู้ที่ยอมรับเอาทัศนะของ  “มุจญตะฮิด”  มาปฏิบัติโดยไม่จำเป็นต้องรู้หลักฐาน) …  และเป็นนัก  “ทัศนะนิยม”  คือ เชื่อถือในทัศนะของนักวิชาการมัษฮับใดมัษฮับหนึ่งอย่างเคร่งครัด ซึ่งตามปกติ จะไม่ยอมออกนอกลู่นอกทางของมัษฮับที่ตนเองสังกัดอยู่ง่ายๆ …

แต่ .. ในเรื่องของการเลี้ยงอาหารบ้านผู้ตายนี้  เป็นเรื่องแปลกมากที่นักวิชาการบางท่านผู้เคยยอมรับว่าตนเองเป็นเพียง มุก็อลลิด กลับสถาปนาตนเองเป็น มุจญตะฮิด เสียเอง ..  ด้วยการอ้างเอาหะดีษบางบทมาเป็นหลักฐานสนับสนุนความเชื่อของชาวบ้านเรื่องอนุญาตให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเพื่อส่งบุญให้แก่ผู้ตายได้ ..  ทั้งๆที่ มุจญตะฮิด จริงๆ จะไม่มีท่านใดเคยอ้างหะดีษเหล่านั้นเป็นหลักฐานในเรื่องนี้มาก่อนเลย, .. และนักวิชาการทั้ง  4  มัษฮับก็บอกตรงกันว่า  พฤติกรรมดังกล่าว เป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจก็ตาม …. 

การที่มีผู้อ้างหลักฐานดังกล่าวขึ้นมา  จะผิดหรือจะถูกไม่ใช่ประเด็นสำคัญสำหรับผู้ที่ปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่,   แต่ที่สำคัญก็คือ มันสร้างความมั่นใจแก่พวกเขาเป็นทวีคูณว่า  ข้ออ้างของมุจญตะฮิด (??) เหล่านั้น   น่าเชื่อถือและมีน้ำหนักกว่ามุจญตะฮิดตัวจริงและนักวิชาการจริงๆที่คัดค้านเรื่องนี้ในอดีตเสียอีก  ซึ่งก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกดี ..

ในทัศนะส่วนตัวของผม  ใครจะมีความเชื่อเป็นการส่วนตัวอย่างไร   ย่อมเป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะปฏิบัติตามความความเชื่อของตนได้  เพราะทุกคน จะต้องรับผิดชอบในความเชื่อหรือการกระทำของตนต่อพระองค์อัลลอฮ์ ซ.บ. โดยตรงอยู่แล้ว  และผมก็ไม่นิยมการชี้หน้าประณามการกระทำของใครว่าเป็นบิดอะฮ์ด้วย  นอกจากจะพูดหรือเขียนถึงในเชิงเป็นตัวอย่างด้านวิชาการเพียงอย่างเดียว   และพร้อมที่จะยอมรับการติติงจากท่านผู้อ่านที่มีความคิดแตกต่างในเชิงวิชาการอยู่เสมอ …

พูดตามศัพท์กีฬาฟุตบอลก็คือ  จะพยายามรักษากติกาด้วยการ  “เตะบอล”  อย่างเดียว, ..  จะไม่ยอม  “เตะคน”  เป็นอันขาดตราบใดที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ …

สิ่งนี้  คือ  “มารยาท”  ที่นักวิชาการยุคแรก  ได้ยึดถือและปฏิบัติกันมาเมื่อเกิดความขัดแย้งกันเชิงวิชาการ …

แต่สำหรับในกรณีเรื่องการกินเลี้ยงบ้านผู้ตายนี้  เมื่อได้อ่านหะดีษที่นักเรียนไทยในกรุงไคโรบางท่านนำเสนอเป็นหลักฐานเรื่องนี้แล้ว  แม้ว่าท่านจะมีสิทธิในการนำเสนอหลักฐานอย่างไรก็ได้ตามมุมมองของท่าน   แต่ขอบอกตรงๆก็คือ   ใคร่จะเสนอแนะว่า  อยากให้พวกท่านนักศึกษาเหล่านั้น ลองตรวจสอบข้อมูลหลักฐานเหล่านั้นให้รอบคอบถี่ถ้วนและชัดเจนเสียก่อนที่จะนำออกเผยแพร่  ก็น่าจะเป็นการดีสำหรับตัวพวกท่านเอง และผู้ที่เชื่อถือศรัทธาในตัวพวกท่าน …

ตามปกติ  หะดีษที่ท่านผู้รู้หรือโต๊ะครูยุคก่อน ชอบนำมาอ้างอิงเป็นหลักฐานในเรื่องการจัดเลี้ยงอาหารบ้านผู้ตาย จะมีอยู่  2  บทด้วยกัน,    บทแรกก็คือ หะดีษซึ่งรายงานมาจากท่าน อาศิม บิน กุลัยบ์ ซึ่งรายงานมาจากบิดาของท่าน  คือท่านกุลัยบ์ บิน ชิฮาบ (เป็นตาบิอีน,  ไม่ปรากฏปีที่สิ้นชีวิต) … จากการบันทึกของท่าน มุหัมมัด บิน อับดุลลอฮ์ อัล-คอฏีบ อัต-ติบรีศีย์  ในหนังสือ  “มิชกาต อัล-มะศอเบี๊ยะห์”   เกี่ยวกับเรื่องที่อ้างกันว่า  ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยรับเชิญไปทานอาหารที่ภรรยาของผู้ตายจัดเลี้ยงขึ้นมา ..  ซึ่งข้อเท็จจริงของเรื่องนี้  เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการเรียงพิมพ์,  แล้วผู้รู้บางคน ก็ถือโอกาสนำไปขยายผลด้วยการอ้างเป็นหลักฐานในเรื่องอนุญาตให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเพื่อส่งบุญให้แก่ผู้ตายได้  จนทำให้เกิดเป็นปัญหาโต้แย้งกันอยู่พักหนึ่ง     ซึ่งหะดีษบทนี้  ผมจะนำมากล่าวถึงในตอนหลัง  อินชา อัลลอฮ์ ….

ส่วนหะดีษบทที่สอง  ก็คือหะดีษของ ท่าน ฏอวูส  (เป็นตาบิอีน,  สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.90 กว่าๆ  หรือปี ฮ.ศ. 106 ตามความขัดแย้งกันของนักวิชาการ)  ซึ่งมีข้อความว่า  ..  บรรดาผู้ตาย จะถูกทดสอบ (คือถูกถาม) อยู่ในกุบูรฺของพวกเขา 7  วัน  ดังนั้น  เศาะหาบะฮ์จึงชอบที่จะให้มีการบริจาคอาหารแก่พวกเขาในวันดังกล่าว ..  ซึ่งผมจะนำหะดีษบทนี้มาวิเคราะห์ในตอนหลังอีกเช่นกัน  อินชาอัลลอฮ์ ….

ส่วนหะดีษอีกบทหนึ่ง(ที่คนยุคใหม่บางคนนำมาอ้างกัน) และผมจะนำมาวิเคราะห์เป็นบทแรก  ได้แก่หะดีษจากการรายงานของท่าน อัล-อะห์นัฟ บิน ก็อยซ์  (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.  67 หรือ 72 ) ซึ่งเป็นหะดีษที่ไม่มีผู้ใดเคยได้รับฟังหรือเคยได้ยินมาก่อนในแวดวงความขัดแย้งเรื่องการกินเลี้ยงบ้านผู้ตายที่เกิดขึ้นมาตั้ง  40-50  ปีที่ผ่านมา …

ผมได้รับทราบการอ้างถึงหะดีษบทนี้เป็นครั้งแรกจากหนังสือที่ผู้เขียนนิรนาม คือ ไม่มีการระบุชื่อ  ได้กล่าวในหนังสือ  “การอ่านอัลกุรอานให้กับผู้ตาย”  หน้า  36  แล้วต่อมาก็ได้เห็นเป็นครั้งที่สองจากเว็บไซด์ฯ  โดยนักเรียนไทยในประเทศอียิปต์บางท่าน ได้นำหะดีษบทนี้มาเสนอไว้เป็นหลักฐานเรื่องการอนุญาตให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเพื่อส่งบุญให้ผู้ตาย  ควบคู่กับหะดีษของท่านฏอวูสข้างต้น …  ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า นักเขียนนิรนามข้างต้นนั้น กับผู้ที่นำข้อมูลเหล่านี้ใส่ลงในเว็บไซด์นี้  จะเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า ?  …

หะดีษบทนั้น  ผมจะคัดลอกมาให้ท่านผู้อ่านได้เห็นพร้อมด้วยคำแปลจากเว็บไซด์ คำต่อคำ  ..    แล้วผมก็จะทำการวิเคราะห็ข้อเท็จจริงของหะดีษบทนั้นให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบตามหลักวิชาการว่า   หะดีษดังกล่าว  เป็นหลักฐานเรื่องอนุญาตให้ครอบครัวผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารได้จริงดังอ้างหรือไม่ ? ..  ดังต่อไปนี้ ….

1 –  ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์  ได้กล่าวรายงานจากท่านอะหฺมัด บิน มะนีอฺ  ซึ่งเขาได้กล่าวรายงานไว้ในมุสนัดของเขาว่า …

عَنِ اْلأَحْنَفِ بْنِ قَيْسٍ قَالَ :  كُنْتُ أَسْمَعُ عُمَرَ يَقُوْلُ : لاَ يَدْخُلُ أَحَدٌ مِنْ قُرَيْشٍ فِىْ بَابٍ إِلاَّ دَخَلَ مَعَهُ نَاسٌ،  فَلاَ أَدْرِىْ مَا تَأْوِيْلُ قَوْلِهِ حَتَّى طُعِنَ عُمَرُ  فَأَمَرَ صُهَيْبًا أَنْ يُصَلِّىَ بِالنَّاسِ ثَلاَثاً،  وَأَمَرَ أَنْ يَجْعَلَ لِلنَّاسِ طَعَامًا فَلَمَّا رَجَعُوْا مِنَ الْجَنَازَةِ جَاؤُاْ وَقَدْ وُضِعَتِ الْمَوَائِدُ،   فَأَمْسَكَ النَّاسُ    عَنْهَا لِلْحَزَنِ الَّذِىْ هُمْ فِيْهِ،   فَجَاءَ الْعَبَّاسُ بْنُ عَبْدِ الْمُطَّلِبِ،  فَقَالَ  :  يَاأَيُّهَاالنَّاسُ قَدْ مَاتَ … الْحَدِيْثَ ..

รายงานจากอะหฺนัฟ บิน กัยซฺ  เขากล่าวว่า  ฉันได้ยินท่านอุมัรกล่าวว่า คนหนึ่งจากกุร็อยช์ จะไม่เข้าในประตูหนึ่ง นอกจากว่า ต้องมีผู้คนเข้ามาพร้อมกับเขาด้วย ดังนั้น ฉันจึงไม่รู้ถึงการตีความคำพูดของท่านอุมัร  จนกระทั่ง ท่านอุมัรได้ถูกลอบแทง แล้วท่านอุมัรจึงใช้ให้ท่านซุฮัยบ์ ทำการนำละหมาด (ญะนาซะฮ์) สามรอบด้วยกัน  และท่านอุมัรก็ใช้ให้เขาทำอาหารให้แก่บรรดาผู้คน  ดังนั้น ในขณะที่ผู้คนได้กลับมาจาก (ฝัง) ญะนาซะฮ์  พวกเขาก็กลับมา โดยมีบรรดาสำรับอาหารวางอยู่แล้ว   แต่บรรดาผู้คนก็งดที่จะรับประทานนั้น อันเนื่องจากความโศกเศร้าที่พวกเขาเป็นอยู่   ดังนั้น ท่านอัลอับบาส บินอบูฏอลิบก็มา  แล้วกล่าวว่า  โอ้บรรดาผู้คนทั้งหลาย  แท้จริงท่านร่อซูลุลลอฮ์ (ซ.ล.) ได้เสียชีวิตไปแล้ว ….. สายรายงาน หะซัน ดูหนังสือ อัลมะฏอลิบ อัลอาลิยะฮ์ บิ ซะวาอิด อัลษะมานียะฮ์   เล่ม 1  หน้า 198   หะดีษที่  709 .

หะดีษที่ท่านเจ้าของเว็บฯนำมาอ้างมีข้อความอยู่เพียงแค่นี้ ดังการบันทึกในหนังสือ “อัล-มะฏอลิบ อัล-อาลิยะฮ์” ฉบับที่อยู่ในมือของผมเป็นเล่มที่ 2 หน้า 534,   หรือเป็นหะดีษที่  858  จากการพิมพ์ครั้งแรกของสำนักพิมพ์ ดารุลกุตุบ อัล-อิลมียะฮ์ แห่งกรุงเบรุต  ประเทศเลบานอน …

เพื่อให้หะดีษข้างต้นนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผมก็ขอนำเอาข้อความถัดจากที่ถูกละไว้นั้นอันถูกอ้างว่าเป็นคำพูดของท่านอับบาส ร.ฎ. พร้อมด้วยคำแปลของผมมาให้อ่านกันดังนี้

“يَا أَيُّهَاالنَّاسُ! قَدْ مَاتَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَأَكَلْنَا بَعْدَهُ وَشَرِبْنَا، وَمَاتَ أَبُوْبَكْرٍفَأَكَلْنَا بَعْدَهُ وَشَرِبْنَا، أَيُّهَاالنَّاسُ! كُلُوْا مِنْ هَذَاالطَّعَامِ”، فَمَدَّ يَدَهُ وَمَدَّ النَّاسُ أَيْدِيَهُمْ فَأَكَلُوْا  فَعَرَفْتُ تَأْوِيْلَ قَوْلِهِ

“ประชาชนทั้งหลาย! แน่นอน (ตอนที่)ท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัมสิ้นชีวิต พวกเราก็มีการกินและการดื่มหลังจาก(การตาย)นั้น, และ(เมื่อ)ท่านอบูบักรฺสิ้นชีวิต พวกเราก็มีการกินการดื่มหลังจาก(การตาย)นั้น, .. ประชาชนทั้งหลาย!  เชิญพวกท่านกินอาหารนี้เถิด” .. แล้วท่านอับบาสและประชาชนก็เอื้อมมือไปหยิบและกินอาหารกัน .. ดังนั้น ฉัน (อะห์นัฟ บินก็อยซ์) จึงเข้าใจการไขความหมายจากคำพูดของท่าน(อุมัรฺข้างต้น) …

(จากหนังสือ “إِتْحَافُ الخِْيَرَةِ”  หะดีษที่ 2723)

วิภาษ -วิเคราะห์.

สายรายงานของหะดีษบทนี้  มีดังนี้ …

قََالَ أَحْمَدُ بْنُ مَنيعٍٍ حَدَّثَنَا يَزِيْدُ بْنُ هَارُوْنَ،  ثَنَا حَمَّادُ بْنُ سَلِمَةَ،  عَنْ عَلِىِّ بْنِ زَيِدٍ،  عَنْ الْحَسَنِ،  عَنِ اْلأَحْنَفِ بْنِ قَيْسٍ قَالَ  :   كُنْتُ أَسْمَعُ عُمَرَ …….

1.  อะห์มัด บิน มะเนี๊ยะอฺ

2.  ยะซีด บิน ฮารูน

3.  หัมมาด บิน สะลิมะฮ์

4.  อะลีย์ บิน ซัยด์ บิน ญุดอาน

5.  หะซัน อัล-บัศรีย์

6.  อะห์นัฟ บิน ก็อยซ์ 

ผมจะไม่ถาม ..  ว่าการที่ท่านอ้างหะดีษบทนี้มาเป็นหลักฐานเรื่อง  “การทำบุญบ้านคนตาย”  นั้น  ท่านอ้างในฐานะที่ท่านเป็น มุก็อลลิด หรือเป็น มุจญตะฮิด?”

เพราะหากผมถาม  ท่านก็ต้องตอบว่า ท่านเป็นมุก็อลลิด, ..   แล้วหากผมถามต่อไปว่า  ถ้าอย่างนั้น อิหม่ามมุจญตะฮิดท่านใดหรือนักวิชาการท่านใดในอดีตที่ท่าน  “ตักลีด”  พวกเขา  เคยอ้างหะดีษบทนี้เป็นหลักฐานในเรื่องการทำบุญบ้านคนตาย มาก่อนหน้าพวกท่าน ? …

แน่นอน  ท่านคงให้คำตอบผมไม่ได้   เพราะไม่เคยปรากฏว่า จะมีอิหม่ามมุจญตะฮิดหรือนักวิชาการท่านใดในอดีต ได้อ้างหะดีษบทนี้มาเป็นหลักฐานเรื่อง  “การทำบุญบ้านคนตาย”  ตามความเข้าใจของท่านมาก่อน   นอกจาก — ตามความเข้าใจของผมซึ่งคิดว่า ไม่น่าจะผิด —  ท่านอาจจะ  “คัดลอก”  หะดีษบทนี้มาจากนักวิชาการ  “ยุคใหม่”  ในประเทศอาหรับบางคนที่มีความเชื่อในเรื่องนี้  และถือโอกาสอ้างหะดีษบทนี้มาเป็นหลักฐานสนับสนุนความเชื่อเรื่องการ  “ทำบุญ”  บ้านคนตายของตน ทั้งๆที่ตัวเองขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องหะดีษ …

แล้วท่านก็ไปคัดลอกหะดีษนี้จากหนังสือดังกล่าวมาเผยแพร่(เพราะมันสอดคล้องกับทัศนะของท่าน)  จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้น ดังจะได้อธิบายต่อไป …

ผมไม่เชื่อว่า  ท่านจะ  “คัดลอก”  หะดีษนี้มาจากหนังสือ  “อัล-มะฏอลิบ อัล-อาลิยะฮ์” ของท่านหาฟิซ อิบนุหะญัรฺโดยตรง, เพราะถ้าท่านคัดลอกหะดีษนี้มาจากต้นฉบับดังกล่าวด้วยตนเองจริงๆ  ท่านก็คงจะได้เห็น  “สายรายงาน”  ของมันซึ่งท่านหาฟิซ ได้ระบุเอาไว้ด้วยดังที่ผมได้นำเสนอมาข้างต้นนั้น  และในฐานะนักศึกษาระดับสูงเยี่ยงท่าน  ก็คงจะพอ  “มองออก”  ว่า สายรายงานของหะดีษนี้  หะซัน ดังการอ้างของท่าน ..   หรือเป็นสายรายงานที่  “เฎาะอีฟ”  กันแน่ ? …

แต่ตอนนี้  ผมขอบอกให้ท่านทราบก่อนว่า   ในการแปลและการอธิบายของท่านต่อข้อความของหะดีษข้างต้น   ยังมีจุด  “ผิดพลาด”  อยู่ถึง  3  ประเด็นด้วยกันดังนี้ …

(1).  คำแปลที่ว่า ..  “ดังนั้น ท่านอัลอับบาส บิน อบูฏอลิบ”  ..  นั้น  เข้าใจว่าท่านอาจจะแปลผิดพลาดเพราะความเผอเรอ   เพราะคำแปลที่ถูกต้องก็คือ  “ท่านอัล-อับบาส บินอับดุล มุฏฏอลิบ”  ..  ดังข้อความของภาษาอฺรับข้างต้น …

(2). คำอธิบายที่ว่า ..  “แล้วท่านอุมัรฺจึงใช้ให้ท่านซุฮัยบ์ ทำการนำละหมาด (ญะนาซะฮ์) สามรอบด้วยกัน” ..  คำอธิบายตอนนี้  ผิดพลาดอย่างชัดเจน,  เพราะข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ตอนนี้ก็คือ  ท่านอุมัรฺ ร.ฎ.  ได้ใช้ให้ท่านสุฮัยบ์ บิน สินาน ทำหน้าที่เป็นอิหม่าม  นำประชาชนนมาซญะมาอะฮ์ห้าเวลา เป็นเวลา  3  วัน ….

ไม่ใช่เป็นอิหม่ามนำนมาซญะนาซะฮ์ท่าน  3  รอบ ดังที่อธิบายมานั้น …

ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์เรื่องการถูกฆาตกรรมของท่านอุมัรฺ ร.ฎ. จากหะดีษที่ถูกต้องซึ่งบันทึกโดยท่านบุคอรีย์  หะดีษที่ 3700,   และท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ในหนังสือ  “อัล-มะฏอลิบ อัล-อาลิยะฮ์”  เล่มที่ 8  หน้า  366-367  หรือหะดีษที่ 3902  มีพอเป็นสังเขปดังนี้ …

ท่านอุมัรฺ อิบนุ้ล ค็อฏฏอบ ร.ฎ.  ถูกลอบทำร้ายด้วยดาบในตอนเช้ามืดของวันพุธ ที่  26  เดือนซุลหิจญะฮ์  ฮ.ศ.  23  ด้วยน้ำมือของคนนอกศาสนา  ชื่อ ฟัยรูซ  (มีชื่อรองว่า  อบู ลุอ์ลุอ์),  ซึ่งเป็นคนรับใช้ของท่านอัล-มุฆีเราะฮ์ บิน ชุอฺบะฮ์ ..    หลังจากที่ท่านเพิ่งจะเสร็จจากการกล่าวตักบีเราะตุ้ลเอี๊ยะห์รอม เพื่อทำหน้าที่อิหม่ามนำนมาซซุบห์ในเช้ามืดของวันดังกล่าวพอดี …

หลังจากถูกลอบทำร้าย   ท่านก็ยังมีลมหายใจอยู่อีก  3  วัน  แล้วจึงสิ้นชีพในวันเสาร์ ที่ 29  ของเดือนซุลหิจญะฮ์   และมัยยิตของท่าน ก็ถูกฝังในเช้าวันอาทิตย์ ที่  1  เดือนมุหั้รรอม  ฮ.ศ.  24  อันเป็นวันปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม ..  ภายในบริเวณบ้านของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ร.ฎ. …   เคียงคู่อยู่กับท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และท่านอบูบัก ร.ฎ. ยอดปิยมิตรของท่าน ….

ในขณะที่ท่านมีอาการหนักจากพิษบาดแผล  มีบางคนเสนอแนะให้ท่านแต่งตั้งผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นคอลีฟะฮ์แทนท่าน   แต่ท่านอุมัรฺ ร.ฎ. ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว  โดยท่านได้เรียกเศาะหาบะฮ์อาวุโสจำนวน  6  ท่าน  คือท่านอุษมาน,  ท่านอะลีย์,  ท่านฏ็อลหะฮ์,  ท่านอัซ-ซุบัยรฺ,  ท่านอับดุรฺเราะห์มาน บินเอาฟ์,  และท่านสะอัด บิน อบีย์วักกอส มาหา และสั่งให้พวกเขาเข้าไปประชุม – ชูรออ์ – กันในบ้านหลังหนึ่งเป็นเวลา  3  วัน เพื่อเลือกเฟ้นตัวผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นคอลีฟะฮ์คนต่อไป  ซึ่งในการนี้  ท่านได้สั่งให้ท่านสุฮัยบ์ บิน สินาน ทำหน้าที่เป็นอิหม่ามนำประชาชนนมาซฟัรฺฎู 5 เวลาใน  3  วันดังกล่าวนั้น และกำชับท่านสุฮัยบ์ว่า  หากบุคคลทั้งหก ลงมติเลือกใครเป็นคอลีฟะฮ์แล้ว  ก็ให้ถือปฏิบัติตามนั้น ผู้ใดฝ่าฝืนก็ให้ประหารชีวิตเสีย ….

แล้วสุดท้าย  มติในที่ประชุมชูรออ์  ก็ตกลงเลือกท่านอุษมาน บิน อัฟฟาน ร.ฎ. ให้ดำรงตำแหน่งเป็นคอลีฟะฮ์สืบแทนท่านอุมัรฺ อิบนุ้ล ค็อฏฏอบ ร.ฎ. ต่อไป …

และในการนมาซญะนาซะฮ์ท่านอุมัรฺ  ปรากฏว่าทั้งท่านอะลีย์และท่านอุษมาน ต่างแก่งแย่งกันจะทำหน้าที่เป็นอิหม่าม แต่ท่านอับดุรฺเราะห์มาน บิน เอาฟ์ได้ทัดทานไว้  โดยให้เหตุผลว่า  ท่านอุมัรฺ ร.ฎ. ได้มอบหมายให้ท่านสุฮัยบ์ ทำหน้าที่เป็นอิม่ามมาตลอดทั้ง 3 วันที่ผ่านมาแล้ว  จึงสมควรให้ท่านสุฮัยบ์ทำหน้าที่เป็นอิหม่ามนำนมาซญะนาซะฮ์ต่อไป   ท่านสุฮัยบ์จึงเป็นผู้นำนมาซญะนาซะฮ์ท่านอุมัรฺ ร.ฎ. ในวันนั้น …

ในหนังสือ  “อัล-บิดายะฮ์ วัน-นิฮายะฮ์” เล่มที่ 4  (ส่วนที่ 7)  หน้า 341 อันเป็นตอนที่กล่าวถึงประวัติของท่านสุฮัยบ์ บิน สินาน  ท่านอิบนุกะษีรฺ ได้กล่าวว่า …

وَلَمَّا جَعَلَ عُمَرُ اْلأَمْرَ شُوْرَى كَانَ هُوَ الَّذِىْ يُصَلِّى بِالَّناسِ حَتَّى تَعَيَّنَ عُثْمَانُ،  وَهُوَ الَّذِىْ وَلِىَ الصَّلاَةَ عَلَى عُمَرَ …

“และเมื่อท่านอุมัรได้กำหนดภารกิจ (การเลือกคอลีฟะฮ์) เป็นการชูรออ์  ท่านสุฮัยบ์จึงต้องทำหน้าที่เป็นอิหม่ามนำนมาซประชาชน จนกระทั่งท่านอุษมานได้รับการคัดเลือกให้เป็นคอลีฟะฮ์,     และท่านสุฮัยบ์ ยังทำหน้าที่เป็นอิหม่าม นำนมาซญะนาซะฮ์ท่านอุมัรฺ ร.ฎ. อีกด้วย” …

และในหน้าที่  156  ของหนังสือเล่มเดียวกัน  ท่านอิบนุกะษีรฺ  ก็ได้กล่าวไว้อีกว่า.

وَأَوْصَى أَنْ يُصَلِّىَ بِالَّناسِ صُهَيْبَ بْنَ سِنَانٍ الرُّوْمِىَّ ثَلاَثَةَ أَيَّامٍ حَتَّى تَنْقَضِىَ الشُّوْرَى …

“และท่านอุมัรฺ ร.ฎ. ก็ได้สั่งให้ท่านสุฮัยบ์ บิน สินาน อัรฺ-รูมีย์  นำประชาชนนมาซเป็นเวลา  3  วัน จนกว่าการประชุมชูรออ์จะสำเร็จ …”

เพราะฉะนั้นจึงขอถามว่า  คำแปลของท่านที่ว่า “ท่านอุมัรฺได้ใช้ให้สุฮัยบ์นำนมาซญะนาซะฮ์ท่าน 3 รอบ” นั้น ท่านเอาคำแปลนี้มาจากไหน ? …

(3).  ข้อความตอนท้ายที่ว่า .. “สายรายงาน หะซัน” ..  นั้น ไม่ว่าคำพูดนี้จะเป็นคำพูดของท่านเอง หรือเป็นคำพูดของเจ้าของหนังสือที่ท่านคัดลอกมา  ก็ถือว่าเป็นคำพูดที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง …

ทั้งนี้  ก็เพราะหะดีษบทนี้  เป็นหะดีษที่  “เฎาะอีฟ”  ทั้งสายรายงานและตัวบท,   เนื่องจากมีจุดบกพร่องอยู่  3  ประการด้วยกัน, …   เป็นความบกพร่องในสายรายงาน  2  จุด และบกพร่องในข้อความหรือตัวบทอีก  1  จุด  คือ ….

(1). ผู้รายงานลำดับที่  4  คือ ท่านอะลีย์ บิน ซัยด์ บิน ญุดอาน (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 131)  เป็นผู้รายงานที่เฎาะอีฟ, ..   ดังคำกล่าวของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์เองในหนังสือ  “อัต-ตักรีบ”  เล่มที่  2  หน้า  37 …

นักวิชาการส่วนมากถือว่า  ท่านอะลีย์ บินซัยด์ผู้นี้  เป็นผู้รายงานหะดีษที่ขาดความเชื่อถือ, แม้กระทั่งท่านบุคอรีย์  และท่านอบู หาติม ก็ยังกล่าววิจารณ์ว่า لاَ يُحْتَجُّ بِهِ .. คือ จะอ้างเขา (อะลีย์ บิน ซัยด์ บิน ญุดอาน) เป็นหลักฐานไม่ได้

(จากหนังสือ  “มีซาน อัล-เอี๊ยะอฺติดาล”   เล่มที่  3  หน้า  128) ….

(2).   ผู้รายงานลำดับที่  5  คือ ท่านหะซัน อัล-บัศรีย์  (สิ้นชีวิตปีที่  110)  แม้โดยทั่วไปจะเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องอย่างสูง  แต่ก็มีชื่อเสียงในด้านการรายงานหะดีษในลักษณะมั่วนิ่ม(ตัดลีซ) .. คือ  อ้างการรายงานหะดีษจากบุคคลหนึ่ง ในขณะที่หะดีษนั้น ท่านได้รับฟังมาจากบุคคลอื่น  ..  ซึ่งเรื่องนี้ ถือเป็นข้อบกพร่องที่ทำให้หะดีษที่ท่านรายงาน  ไม่ได้รับความเชื่อถือจากนักวิชาการหะดีษโดยทั่วๆไป ….

(ดูประวัติย่อของท่านหะซัน อัล-บัศรีย์ จากหนังสือ  “ตักรีบ อัต-ตักรีบ”   เล่มที่  1  หน้า  165,  และหนังสือ  “อัต-ตัดลีซ ฟิล หะดีษ  หน้า  291  เป็นต้น) ….

และหะดีษบทนี้  ท่านหะซันใช้สำนวนในการรายงานว่า .. عَنِ اْلأَحْنَفِ بْنِ قَيْسٍจากท่านอะห์นัฟ บิน ก็อยซ์ .. (ดูสายรายงานจากหน้า 4) ซึ่งถือว่า เป็นการรายงานในลักษณะ ตัดลีซ”  ตามหลักวิชาการหะดีษ  ….

ดังนั้น  หะดีษนี้จึงเรียกว่าเป็น  “หะดีษ มุดัลลัซ”  คือ หะดีษที่ถูกรายงานในลักษณะมั่วนิ่ม อันเป็นหะดีษเฎาะอีฟประเภทหนึ่ง ….

(3). ส่วนการบกพร่องในข้อความหรือตัวบทหะดีษ ก็คือ   ข้อความที่ว่า ..  “และท่านอุมัรฺก็ได้ใช้ให้เขา (สุฮัยบ์) ทำอาหารให้แก่บรรดาผู้คน ……..”  ถือว่า เป็นข้อความที่ มุงกัรฺ คือ อ่อนมาก ..

ทั้งนี้  เนื่องจากข้อความดังกล่าวนี้ มีอยู่เฉพาะในหะดีษบทนี้ (ซึ่งเป็นหะดีษที่สายรายงานเฎาะอีฟดังกล่าวมาแล้ว) เพียงบทเดียว ..  ในขณะที่หะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์บทอื่นที่รายงานมาเกี่ยวกับเรื่องการถูกฆาตกรรมของท่านอุมัรฺ ร.ฎ. จากการบันทึกของท่านบุคอรีย์  หะดีษที่3700 ก็ดี,   หรือจากการบันทึกของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ในหนังสือ  “อัล-มะฏอลิบ อัล-อาลิยะฮ์”  เล่มที่  8  หน้า  366  (หะดีษที่  3902) ที่มีเนื้อหาละเอียดยืดยาวกว่าหะดีษบทนี้มากก็ดี,    จะไม่ปรากฏมีข้อความเรื่องท่านอุมัรฺ ร.ฎ. ได้สั่งท่านสุฮัยบ์ให้จัดอาหารเพื่อเลี้ยงผู้คนหลังจากการตายของท่าน  ดังที่มีระบุไว้ในหะดีษบทนี้แต่ประการใด …

นอกจากนี้  เนื้อหาตอนท้ายของหะดีษเฏาะอีฟบทนี้ซึ่งสรุปว่า  ท่านอับบาส บิน อับดุลมุฏฏอลิบ ร.ฎ.. ได้กินและได้สั่งให้ประชาชนกินอาหารที่ถูกนำมาเลี้ยง หลังจากการฝังท่านอุมัรฺ ร.ฎ.แล้ว โดยอ้างว่า  เมื่อตอนที่ท่านศาสดาและท่านอบูบักรฺตาย  ก็เคยมีการจัดเลี้ยงอาหารกันในลักษณะนี้ .. ก็ขัดแย้งกับหะดีษที่เศาะเหี๊ยะฮ์ (ถูกต้อง) ที่ท่าน ญะรีรฺ บิน อับดุลลอฮ์ อัล-บะญะลีย์ ร.ฎ. (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.  51)  ได้กล่าวเอาไว้ว่า ….

كُنَّا نَعُدُّ اْلإِجْتِمَاعَ إِلَى أَهْلِ الْمَيِّتِ  وَصُنْعَةَ الطَّعَامِ بَعْدَ دَفْنِهِ مِنَ النِّيَاحَةِ

“พวกเรา (เศาะหาบะฮ์) ถือว่า  การไปชุมนุมกันที่บ้านผู้ตาย  และทำอาหารเลี้ยงกันหลังจากการฝังมัยยิตเสร็จแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮ์ (การแสดงออกถึงความเศร้าโศกอย่างรุนแรงเกินพอดี  ซึ่งเป็นเรื่องต้องห้ามตามหลักการศาสนา)” …

(บันทึกโดย  ท่านอะห์มัด  หะดีษที่  6905  จากการตะห์กีกของท่านอะห์มัดชากิรฺ, และท่านอิบนุมาญะฮ์  หะดีษที่  1612  ด้วยสายรายงานที่ถูกต้อง  ดังการรับรองของท่านอิหม่ามนะวะวีย์ในหนังสือ  “อัล-มัจญมั๊วะอฺ”  เล่มที่  5  หน้า  320) …

สำนวนดังกล่าวนี้  เป็นสำนวนจากการบันทึกของท่านอะห์มัด ….

จะเห็นได้ว่า  ข้อความของหะดีษเฎาะอีฟข้างต้นอ้างว่า ท่านอับบาส ร.ฎ. ได้กินและส่งเสริมให้ประชาชนกินอาหารที่บ้านผู้ตายหลังจากฝังมัยยิตแล้ว, ..  ขัดแย้งกับข้อความของหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ จากท่านญะรีรฺ ร.ฎ. ที่กล่าวว่า  บรรดาเศาะหาบะฮ์ถือว่า การไปร่วมกินอาหารที่บ้านผู้ตายหลังจากฝังมัยยิตแล้ว  เป็นเรื่องต้องห้าม

หะดีษเฎาะอีฟบทใดที่ถูกรายงานมา,  หรือรายงานเพิ่มเติมบางส่วนมา ให้ขัดแย้งกับรายงานจากหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์  หะดีษบทนั้นหรือส่วนที่รายงานเพิ่มเติมมานั้น ตามหลักวิชาการหะดีษถือว่า เป็นหะดีษ  “มุงกัรฺ”  คือ หะดีษซึ่งถูกปฏิเสธความถูกต้อง …

สรุปแล้ว  หะดีษของท่านอะห์นัฟ บิน ก็อยซ์ข้างต้น  ที่ท่านนำมาอ้างเป็นหลักฐานเรื่องอนุญาตให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารเพื่อส่งบุญให้แก่ผู้ตายได้นั้น  จึงมิใช่เป็นหะดีษที่สายรายงานหะซันดังคำอ้างของท่าน     แต่ .. เป็นหะดีษที่สายรายงานเฎาะอีฟ, …  และข้อความที่ว่า .. ท่านอุมัรฺ ได้สั่งให้ท่านสุฮัยบ์จัดอาหารเลี้ยงผู้คน,  และข้อความตอนท้ายที่ท่านอัล-อับบาส คะยั้นคะยอให้ผู้คนกินอาหารที่บ้านท่านอุมัรฺหลังจากฝังมัยยิตของท่านแล้ว โดยอ้างว่า  ตอนที่ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และท่านอบูบักรฺ ร.ฎ. ตาย  ก็เคยมีการจัดเลี้ยงอาหารกันอย่างนี้ ..  ก็เป็นข้อความที่  “มุงกัรฺ” หรือเฎาะอีฟมากตามหลักวิชาการ  จึงนำมาอ้างเป็นหลักฐานไม่ได้ ….

วัลลอฮุ อะอฺลัม,

และมีกล่าวในเว็บไซด์ดังกล่าวต่อไปอีกว่า …

2 – ท่านอัล-หาฟิซ อิบนุ หะญัร อัล-อัสเกาะลานีย์  ได้ทำการรายงานจากท่านอิหม่ามอะหฺมัด  โดยที่ท่านอะหฺมัด ได้รายงานไว้ในหนังสือ อัซซุฮ์ด ว่า

سُفْيَانُ قَالَ  :  قَالَ طَاوُوْسٌ  :  إِنَّ الْمَوْتىَ يُفْتَنُوْنَ فِىْ قُبُوْرِهِمْ سَبْعًا،   وَكَانُوْا يَسْتَحِبُّوْنَ أَنْ يُطْعِمُوْا عَنْهُمْ تِلْكَ اْلأَيَّامَ ..

ท่านซุฟยานกล่าวว่า  ท่านฏอวูสกล่าวว่า  แท้จริงผู้ตายนั้น พวกเขากำลังถูกสอบถามในกุบูรของพวกเขา ถึง  7  วัน   และบรรดาซอฮาบะฮ์ มีความชอบที่จะทำการเลี้ยง (ให้) อาหารแทนจากพวกเขา ในเจ็ดวันดังกล่าว ท่านชัยค์ อัลอะซ่อมีย์กล่าวว่า สายรายงานหะดีษนี้ قَوِىٌّ (มีน้ำหนัก)   หนังสือ อัลมะฏอลิบ อัลอาลิยะฮ์ บิ ซะวาอิด อัลษะมานียะฮ์   เล่ม 1  หน้า  199

วิภาษ – วิเคราะห์

รายงานข้างต้นนี้  บันทึกโดยท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ หัมบัล ในหนังสือ  “อัซ-ซุฮ์ด์”, ดังการอ้างอิงของท่านอัซ-สะยูฏีย์ในหนังสือ  “ฏุลูอุษ ษุร็อยยาฯ”  อันเป็นหนังสือในชุด  “อัล-หาวีย์ ลิล ฟะตาวีย์”  ของท่าน   เล่มที่  2  หน้า 317,    และท่านอบู นุอัยม์ ในหนังสือ  “หิลยะตุ้ล เอาลิยาอ์”  เล่มที่ 4  หน้า  12  หมายเลข  4593 … โดยรายงานมาจากท่านฮาชิม บิน อัล-กอซิม,   จากท่านอัล-อัชญะอีย์,   จากท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์,    จากท่านฏอวูส ….

ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์  ได้คัดลอก (ไม่ใช่รายงาน) หะดีษนี้มาบรรจุไว้ในหนังสือ  “อัล-มะฏอลิบ อัล-อาลิยะฮ์”  ของท่าน   เล่มที่  2  หน้า  535  หรือหะดีษที่  859 ….

ณ ที่นี้  ผมมีประเด็นที่จะต้องชี้แจงต่อท่านผู้เขียนข้อความนี้ในเว็บไซด์ และต่อท่านผู้อ่าน  ดังต่อไปนี้ ….

(1).  คำกล่าวของท่านที่ว่า ..  “ท่านชัยค์ อัลอะซ่อมีย์กล่าวว่า  สายรายงานหะดีษนี้ มีน้ำหนัก” ..  นั้น  ไม่ทราบว่า เช็ค อัลอะซ่อมีย์ที่ท่านอ้าง  จะหมายถึง ด็อกเตอร์ มุหัมมัด มุศฏอฟา อัล-อะอฺศอมีย์ หรือหมายถึง เช็คหะบีบุรฺเราะห์มาน อัล-อะอฺศอมีย์ กันแน่ ?  แต่ถ้าเดาไม่ผิด ก็น่าจะเป็นคนหลังมากกว่า  เพราะรายนี้เท่าที่ทราบ  ชอบเขียนหนังสือแหวกแนวในลักษณะขัดแย้งกับซุนนะฮ์อยู่หลายเรื่อง …

มุมมองของผมในกรณีนี้  แตกต่างกับท่านอัล อะซ่อมีย์, ..  คือผมมองว่าสายรายงานหะดีษบทนี้  เป็นสายรายงานที่เฎาะอีฟ, ..   และถ้าข้อเท็จจริงเป็นดังที่ผมเข้าใจ  ข้อความของหะดีษที่ว่า ..  “บรรดาเศาะหาบะฮ์ ชอบที่จะให้มีการบริจาคอาหารแทนผู้ตายใน (เจ็ด) วันดังกล่าวนั้น” ..   ก็น่าจะเป็นข้อความที่  “เฎาะอีฟ”  เหมือนหะดีษบทแรกที่ผ่านมาแล้ว …

แต่ก่อนอื่น  ผมอยากจะให้ท่านผู้อ่านพิจารณาข้อความจากหะดีษข้างต้นนั้นให้ถี่ถ้วนเสียก่อนแล้วท่านจะพบว่า   ข้อความของหะดีษนี้  แบ่งเป็น  2  วรรคด้วยกัน …

วรรคแรกคือข้อความที่ว่า ..  “แท้จริง ผู้ตายนั้นจะถูกสอบถามในกุบูรฺของพวกเขา  7  วัน”  ..  ซึ่งข้อความจากวรรคนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเร้นลับในหลุมฝังศพของผู้ตาย อันเป็นเรื่องของอะกีดะฮ์ …

ส่วนวรรคที่สอง กล่าวว่า ..   “บรรดาเศาะหาบะฮ์ ชอบที่จะให้มีการบริจาคอาหารแทนผู้ตายใน (เจ็ด) วันดังกล่าว” ..   ข้อความจากวรรคนี้  เป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่กระทำให้แก่ผู้ตาย อันเป็นเรื่องของภาคปฏิบัติ …

และ .. จากวรรคแรกที่ว่า .. “ผู้ตายจะถูกสอบถามในกุบูรฺของเขา  7  วัน” ..  นั้น   ข้อความดังกล่าวนี้  ได้รับ  “การยืนยัน”  หรือ شَاهِدٌ จากหะดีษอีกบทหนึ่ง  ซึ่งท่านอิบนุ ญุร็อยจญ์ได้บันทึกไว้ในหนังสือ “อัล-มุศ็อนนัฟ” ของท่าน, โดยรายงานมาจากท่านอัล-หาริษ บิน อบีย์ อัล-หาริษ,   จากท่านอุบัยด์ บิน อุมัยรฺ ..  ดังการบันทึกของท่านอัซ-สะยูฏีย์ ในหนังสือ  “อัล-หาวีย์ ลิล ฟะตาวีย์”   เล่มที่  2  หน้า  317 …

ในที่นี้  ผมจะไม่วิเคราะห์ข้อความของวรรคแรกนี้ว่า  เป็นข้อความที่ถูกต้องหรือไม่? .. เพราะเป้าหมายของผมอยู่ที่การวิเคราะห์ข้อความวรรคที่สองว่า  จะเป็นข้อความที่ถูกต้องหรือไม่ ? ..  มากกว่า …

ข้อความของวรรคที่สองของหะดีษนี้ที่ว่า ..  บรรดาเศาะหาบะฮ์ชอบที่จะให้มีการบริจาคอาหารแทนผู้ตายใน (เจ็ด) วันดังกล่าว ..   ข้อความนี้ มีปรากฏเฉพาะในรายงาน ของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์,  จากท่านฎอวูส  เพียงกระแสเดียวเท่านั้น, ไม่มีการรายงานจากกระแสอื่นมายืนยันเหมือนข้อความในวรรคแรก

ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า  การรายงานของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์  จากท่านฏอวูส  เชื่อถือได้หรือไม่ ? …

ข้อเท็จจริงที่เราจำเป็นจะต้องนำมาพิจารณาในกรณีนี้ มีดังนี้ …

ก.  ท่านฏอวูส บิน กัยซาน เป็นตาบิอีนชั้นอาวุโส,  ทันพบปะกับเศาะหาบะฮ์จำนวนมากร่วม  50  ท่าน,   แต่ปีที่ท่านสิ้นชีวิตยังมีความขัดแย้งกัน …

ท่านอิบนุ สะอฺด์ (สะอัด) กล่าวว่า ..  ท่านฏอวูสสิ้นชีวิตเมื่อปี ฮ.ศ. 90 กว่าๆ

ท่านอิบนุหิบบานกล่าวว่า ..  ท่านฏอวูสสิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.  101 …

ท่านอิบนุเชาศับ (إبن شوذب) กล่าวว่า ..  ฉันไปร่วมในพิธีศพของท่านฏอวูสที่มักกะฮ์เมื่อปี ฮ.ศ.  100 ….

ท่านอัมรฺ บิน อะลีย์ และบางคนกล่าวว่า ..  ท่านฏอวูสสิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.  106 …

ท่านอัล-ฮัยษัม บิน อะดีย์กล่าวว่า ..  ท่านฏอวูสสิ้นชีวิตเมื่อเกือบๆ ฮ.ศ. 110  …

(โปรดดูหนังสือ  “อัล-หาวีย์ ลิล ฟะตาวีย์”  ของท่านอัซ-สะยูฏีย์  เล่มที่ 2  หน้า  317,   และหนังสือ  “ตะฮ์ซีบุต ตะฮ์ซีบ”  ของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์  เล่มที่  5  หน้า  9) ….

ข้อขัดแย้งในปีสิ้นชีวิตของท่านฏอวูสทำให้มีข้อสงสัยว่า ท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ซึ่งอ้างหะดีษบทนี้มาจากท่านฏอวูส  จะเคยได้รับฟังหะดีษจากท่านฏอวูสจริงหรือไม่ ? ..

เพราะท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์เกิดเมื่อปี ฮ.ศ.  97 …

ดังนั้น ถ้าจะถือตามรายงานของท่านอิบนุสะอัด,  รายงานของท่านอิบนุหิบบาน,  และรายงานของท่านอิบนุเชาศับ   ก็แสดงว่า ตอนที่ท่านฏอวูสตายนั้น  ท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์  ยังเป็นเด็กทารกที่อายุไม่เกิน  3-4  ขวบเท่านั้น  จึงเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะได้รับฟังหะดีษจากปากของท่านฏอวูสโดยตรง ….

หรือถ้าจะถือตามรายงานของท่านอัมรฺ บินอะลีย์  และรายงานของท่านฮัยษัม บิน อะดีย์ ก็แสดงว่าตอนที่ท่านฏอวูสตายนั้น  ท่านซุฟยานจะมีอายุประมาณ  8-12  ขวบ เป็นอย่างสูง. …  คือยังเป็นเด็กอยู่ในวัยเรียนระดับประถมหรืออิบติดาอีย์เท่านั้น ..  โอกาสที่จะได้รับฟังหะดีษจากปากของผู้อาวุโสอย่างท่านฏอวูสโดยตรง  ถือว่ามีโอกาสน้อยมากอีกเช่นกัน …

ด้วยเหตุนี้  ท่านอัซ-สะยูฏีย์  จึงกล่าวยอมรับในหนังสือ  “อัล-หาวีย์ ลิล ฟะตาวีย์”  เล่มที่  2  หน้า  317  ว่า …

أَنَّ أَكْثَرَرِوَايَتِهِ عَنْهُ  بِوَاسِطَةٍ

“ที่จริง  รายงานของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์จากท่านฏอวูส  ที่มากที่สุดก็คือ จะต้องผ่าน สื่อกลาง จากผู้อื่นอีกทีหนึ่ง” …

แสดงว่า  หะดีษที่ท่านซุฟยานอ้างการรายงานมาจากท่านฏอวูส “โดยตรง” ตามความเป็นจริงนั้น มีน้อยมาก, ..  เผลอๆอาจจะมีเพียงหะดีษข้างต้นนี้เพียงบทเดียวด้วยซ้ำไป  และก็ไม่น่าจะเป็นรายงานที่ถูกต้องด้วย …

หากจะว่าไปแล้ว   กรณีของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์นี้   ก็คล้ายคลึงกับประวัติของเศาะหาบะฮ์ผู้เยาว์ท่านหนึ่ง คือท่านมะห์มูด บิน ละบีด ร.ฎ.

ท่านมะห์มูด บินละบีด ร.ฎ.  เกิดทันท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม  13 ปี …  มากกว่าที่ท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ เกิดทันท่านฏอวูสเสียอีก, ..  แถมท่านยังอ้างการรายงานหะดีษมาจากท่านนบีย์ ตั้งหลายบทด้วย …

แต่ท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์  ได้กล่าวในหนังสือ  “ตะฮ์ซีบ อัต-ตะฮ์ซีบ”  เล่มที่  10  หน้า  59  ว่า ….

رَوَى عَنِ النَّبِىِّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَحَادِيْثَ،  وَلَمْ تَصِحَّ لَهُ رُؤْيَةٌ وَلاَ سَمَاعٌ مِنْهُ

“เขา (มะห์มูด บิน ละบีด ร.ฎ.) ได้อ้างรายงานหะดีษหลายบทจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม,    แต่ไม่มีรายงานที่ถูกต้องว่า  เขาจะเคยได้เห็นหรือเคยได้รับฟัง (หะดีษใดๆ) จากท่านนบีย์” …

หมายความว่า  หะดีษใดๆท่านท่านมะห์มูด บิน ละบีด ร.ฎ. ได้อ้างรายงานมาจากท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ ลัยฮิวะซัลลัมโดยตรง   ความจริงแล้วท่านเพียงแต่ได้ยินหะดีษบทนั้นมาจาก  “คนกลาง”  คือ เศาะหาบะฮ์ผู้อาวุโสกว่าท่านอีกทีหนึ่ง  ซึ่งหะดีษประเภทนี้  เรียกว่าเป็นหะดีษ  “มุรฺซัล เศาะหาบีย์”  …

โดยนัยนี้  หะดีษบทนี้ซึ่งท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ อ้างการรายงานมาจากท่านฏอวูส บิน กัยซาน —   ซึ่งท่านซุฟยาน  “เกิดทัน”  ท่านฏอวูสเพียงไม่กี่ปีและคงไม่ทันได้รับฟังหะดีษใดๆจากท่านฏอวูสโดยตรง ดังการรับรองโดยปริยายของท่านอัซ-สะยูฏีย์ข้างต้น —  แท้ที่จริงแล้วก็คือ  ท่านซุฟยานได้รับหะดีษบทนี้มาจาก  “คนกลาง” คนใดคนหนึ่ง .. ระหว่างท่าน กับท่านฏอวูส บิน กัยซาน …

ข. จากการบันทึกประวัติท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ ของท่านอิบนุหะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ในหนังสือ “อัต-ตะฮ์ซีบ” เล่มที่ 4 หน้า 99,.. และท่านอัษ-ษะฮะบีย์ในหนังสือ  “ซิยัรฺ อะอฺลามินนุบะลาอ์”  เล่มที่  7  หน้า  175-177  ซึ่งได้ตีแผ่รายนาม “شُيُوْخٌ” คือ  “ครู”  หรือผู้ที่ถ่ายทอดหะดีษให้แก่ท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์เป็นจำนวนหลายร้อยคนนั้น   ไม่ปรากฏมีชื่อของท่านฏอวูส บินกัยซานว่าเป็น “ครู” ของท่านซุฟยานรวมอยู่ด้วยเลย,  …

ในทำนองเดียวกัน  ในการบันทึกประวัติของท่านฏอวูส บิน กัยซาน ในหนังสือ  “อัต-ตะฮ์ซีบ”  เล่มที่  5  หน้า  9 ..  ท่านอิบนุหะญัรฺได้ระบุรายนาม  “تَلاَ مِيْذُ”  หรือศิษย์ที่ได้รับการถ่ายทอดหะดีษจากท่านฏอวูส เป็นจำนวนมากมายหลายสิบคน   แต่ในจำนวนบุคคลดังกล่าวนี้  ก็ไม่ปรากฏมีชื่อของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์ ว่า  เป็นศิษย์ที่ได้รายงานหะดีษมาจากท่านฏอวูสเลยเช่นเดียวกัน …

นี่จึงเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งว่า  ท่านซูฟยาน อัษ-เษารีย์  ไม่เคยได้รับฟังหะดีษบทใดมาจากท่านฏอวูส บิน กัยซานโดยตรง …

ค.  ในส่วนของท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์  แม้ว่า ท่านจะได้รับความเชื่อถืออย่างสูงส่งขนาดไหนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  มี  “บ่อยครั้ง”  ที่ท่านรายงานหะดีษในลักษณะ “มั่วนิ่มหรือตัดลีซ, …  และ  “บางครั้ง”   การ  “ตัดลีซ” ของท่าน ก็ยังเป็นการ  “อำพราง”  นามผู้รายงานหะดีษให้แก่ท่าน ที่เป็นคนที่ขาดความเชื่อถือ โดยการระบุนามผู้ที่เชื่อถือได้แทน ..   ดังคำกล่าวของท่านด็อกเตอร์ มิซฟิรฺ บิน ฆ็อรฺมิลลาฮ์ ในหนังสือ  “อัต-ตัดลีซ ฟิล หะดีษ”  หน้า  266 …

ซึ่งหะดีษเรื่องการที่เศาะหาบะฮ์บริจาคอาหารแทนผู้ตายในเจ็ดวันข้างต้น  ผมมั่นใจว่า  น่าจะจัดอยู่ในกรณีนี้ ..  คือ ท่านซุฟยาน อัษ-เษารีย์อาจได้รับฟังหะดีษนี้จากผู้รายงานคนใดคนหนึ่ง (ซึ่งไม่รู้ว่าจะเชื่อถือได้หรือไม่)  แต่ท่านก็มิได้ระบุนามของบุคคลผู้นั้นในสายรายงาน .. ทว่า ท่านกลับกล่าวว่า .. قَالَ طَاوُوْسٌ .. คือ “ท่านฏอวูสกล่าวว่า …..” ..   อันเป็นคำพูดที่คลุมเครือ  เพราะไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่า ท่านฏอวูสกล่าวกับท่านเองหรือกล่าวกับใคร? … ซึ่งการรายงานในลักษณะนี้ ถือว่า เป็นการรายงานในลักษณะตัดลิซหรือแสร้งมั่วนิ่ม  ตามหลักวิชาการ …

สรุปแล้ว  หะดีษบทนี้ในมุมมองของผม  เป็นหะดีษเฎาะอีฟเพราะสายรายงานขาดตอน ระหว่างท่านฎอวูสกับท่านซุฟยาน  จึงนำมาอ้างเป็นหลักฐานไม่ได้ …

วัลลอฮุ อะอฺลัม.

(2).  ในอีกแง่มุมหนึ่งของการตั้ง  “สมมุติฐาน”  ว่า  สายรายงานข้างต้น เป็นสายรายงานที่ถูกต้อง, ..  แต่ตามหลักวิชาการแล้ว  รายงานบทนี้  ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานของศาสนาได้อยู่ดี

ทั้งนี้ เพราะผู้ที่พูดเรื่อง การบริจาคอาหารแทนผู้ตายใน (เจ็ด)วันดังกล่าว”   คือ ท่านฏอวูส บิน กัยซาน  ซึ่งเป็นเพียงตาบิอีนที่รายงานการกระทำของเศาะหาบะฮ์, .. ไม่ใช่เป็นคำพูด, หรือการกระทำ, หรือการรับรองของท่านนบีย์  ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม …

ท่านอิหม่ามนะวะวีย์  ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  “อัล-มัจญมั๊วะอฺ”  เล่มที่  1  หน้า  60   และในหนังสือ  “ชัรฺหุ มุสลิม”  เล่มที่  1  หน้า  31  ว่า …

قَالَ الْغَزَالِىُّ  :  وَأَمَّا قَوْلُ التَّابِعِىِّ  :  كَانُوْا يَفْعَلُوْنَ ..  فَلاَ يَدُلُّ عَلَى فِعْلِ جَمِيْعِ اْلاُمَّةِ،  بَلْ عَلَى الْبَعْضِ  فَلاَ حُجَّةَ فِيْهِ ….

“ท่านอัล-ฆอซาลีย์กล่าวว่า ..   อนึ่ง คำพูดของตาบิอีนที่ว่า   “พวกเขา (เศาะหาบะฮ์) กระทำกัน (อย่างนั้นๆ)” ..   คำพูดนี้ไม่ได้แสดงว่า เป็นการกระทำของเศาะหาบะฮ์ทั้งหมด  ทว่า,  มันเป็นเพียงการกระทำของเศาะหาบะฮ์บางท่านเท่านั้น  ดังนั้น ในคำพูดดังกล่าวจึงไม่ใช่เป็นหลักฐานใดๆทั้งสิ้น ……..

(3).  คำแปลหะดีษที่ว่า ..  “ซอฮาบะฮ์มีความชอบที่จะเลี้ยงอาหาร”  แทนจากพวกเขา” .. นั้น  …

ผมสงสัยว่า ท่านมีหลักฐานจากที่ใดหรือจากหะดีษบทใด มาจำกัดการแปลคำว่า  “أَنْ يُطْعِمُوْا”  ในหะดีษบทนี้ว่า  เป็นการเลี้ยงอาหาร …   ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจอย่างผิวเผินสมตามเจตนารมณ์ของท่านว่า  หมายถึงการมาชุมนุมกินอาหารกันที่บ้านผู้ตาย ???

เพราะตามความจริงตามหลักภาษาแล้ว  คำว่า أَنْ يُّطْعِمُوْا นี้  หากจะแปลว่า  “การบริจาคอาหารหรือการให้อาหาร”  อันหมายถึง  การนำอาหารไปมอบให้ผู้รับ โดยไม่มีการชุมนุมกันในลักษณะกินเลี้ยง …  ก็ใช้ได้เหมือนกัน  …

และตามปกติในภาษาอฺรับ  หากมีการเชิญคนมารับประทานอาหารร่วมกันในลักษณะกินเลี้ยง  ก็จะมีคำศัพท์อีกคำหนึ่งที่มีความหมายเฉพาะ  คือคำว่า … ضِيَافَةٌ …  ซึ่งก็แปลได้ตรงตัวว่า .. “การเลี้ยงอาหาร” ..  อันเป็นภาษาพื้นๆที่รู้กันโดยทั่วไป …

ในกรณีของหะดีษข้างต้นนี้   คำว่า  فَكَانُوْا يَسْتَحِبًّوْنَ أَنْ يُطْعِمُوْا عَنْهُمْ .. ที่เหมาะสมและถูกต้องที่สุดควรจะแปลว่า ..  “และบรรดาเศาะหาบะฮ์ ชอบที่จะให้มีการบริจาคอาหารแทนพวกเขา (ผู้ตาย)” ..ดังที่ผมได้แปลไปนั้น  ซึ่งความหมายนี้จะครอบคลุมและกว้างกว่าการแปลว่า ..  “เลี้ยงอาหาร” ..  ดังการแปลของท่านนักศึกษาฯ ในเว็บไซด์  ที่ดูจะเป็นการเจตนา  “ลาก”  เข้าหาเป้าหมายของตัวเองจนเกินไป โดยปราศจากหลักฐานใดๆมาจำกัดและชี้ชัดให้ ..

เพราะการแปลว่า  “บริจาคอาหาร”  ดังที่ผมได้แปลไว้ ..   นอกจากจะตีความได้ว่า หมายถึงการ  “เลี้ยงอาหาร” ..   คือ เชิญผู้คนมากินเลี้ยงที่บ้านผู้ตาย .. ดังคำแปลของท่านแล้ว  ยังสามารถจะตีความหมายได้อีกว่า  ..  “ทายาทของผู้ตายได้นำอาหาร  เช่น อินทผาลัม,  ลูกเกด เป็นต้น  ไปบริจาคและแจกจ่ายแก่คนยากจนแทนผู้ตาย  โดยไม่ได้มีการชุมนุมกินเลี้ยงกันที่บ้านผู้ตายแต่อย่างใด”  …  ซึ่งความหมายที่สองนี้  เมื่อพิจารณาอย่างละเอียดแล้ว ก็จะเห็นว่า เป็นความหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมายของหะดีษบทนี้มากที่สุด .. ด้วยเหตุผลที่กำลังจะกล่าวถึงต่อไป …

คำว่า  “นำอาหารไปบริจาค”  กับคำว่า  “เลี้ยงอาหารที่บ้าน”  มี  “วิธีการ และหุก่ม”  ในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการตาย  แตกต่างกัน, ..  ซึ่งหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบหรือมองข้ามไปก็ได้ …

กล่าวคือ วิธีแรก ..   หมายถึง   “การนำอาหารไปบริจาคให้แก่ผู้รับอันเป็นคนยากจน” ..  วิธีการอย่างนี้ ไม่มีข้อขัดแย้งกันแต่ประการใดว่า  ทายาทของผู้ตาย  สามารถปฏิบัติแทนผู้ตายได้ เพราะมันคือการเศาะดะเกาะฮ์หรือการบริจาค, ..   จะเศาะดะเกาะฮ์ด้วยเงิน,  สิ่งของ,  อาหาร หรืออะไรก็ได้ ..   แทนให้แก่ผู้ตาย,    ทั้งนี้ เพราะมีหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้องซึ่งบันทึกโดยท่านบุคอรีย์   หะดีษที่  1388  และท่านมุสลิม  หะดีษที่  51/1004  มายืนยันไว้ …

ส่วนวิธีที่สอง คือ  “การเลี้ยงอาหารที่บ้านผู้ตาย”  ประเด็นนี้แหละคือ ปัญหาที่นักวิชาการทั้ง 4 มัษฮับเห็นพ้องกันว่า  เป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจ  แต่ขณะเดียวกัน กลับมีผู้รู้บางท่านกำลังพยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านประเภท  “อะวาม”  คือชาวบ้านทั่วๆไป ปฏิบัติกัน ..  และผมก็กำลังพูดถึงและวิเคราะห์หลักฐานกันอยู่ขณะนี้ …

เพราะฉะนั้น   แม้จะตั้งสมมุติฐานว่า หะดีษของท่านฏอวูสบทนี้ เป็นหะดีษที่ถูกต้อง (เศาะเหี๊ยะฮ์)  และบรรดาเศาะหาบะฮ์ ก็ได้มีกระทำกัน .. ดังข้อความที่ปรากฏในหะดีษนั้นจริง  แต่การปฏิบัติของพวกเขาก็คือ – วัลลอฮุ อะอฺลัม —  บรรดาเศาะหาบะฮ์ที่เป็นทายาทของผู้ตาย  ได้นำอาหารไปบริจาคให้กับคนยากจนที่บ้านของพวกเขาแทนผู้ตายในเจ็ดวัน หลังจากฝังเสร็จแล้ว, ซึ่งมันก็จะสอดคล้องกับหะดีษที่ท่านศาสดา ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม อนุญาตให้บุตรทำเศาะดะเกาะฮ์แทนบุพการีย์ของตนได้ ..   ดังการรายงานของท่านบุคอรีย์และท่านมุสลิม ในหนังสือเล่มและหน้าที่กล่าวมาแล้ว….

แต่การบริจาคอาหารดังกล่าว คงจะมิได้หมายความว่า ทายาทของผู้ตาย  ไปเชิญคนยากจนมากินเลี้ยงกันที่บ้านของผู้ตาย ..  ดังความเข้าใจและการแปลของท่านนักศึกษาฯ ในเว็บไซด์   .. เพราะความหมายดังกล่าวนี้ จะไปขัดแย้งกับหะดีษเศาะเหี๊ยะฮ์ของท่านญะรีรฺ บิน อับดุลลอฮ์ อัล-บะญะลีย์ ที่กล่าวว่า  การมาชุมนุมกินเลี้ยงกันที่บ้านของผู้ตายหลังจากฝังแล้ว  บรรดาเศาะหาบะฮ์ถือว่า  เป็นนิยาหะฮ์ ที่ต้องห้าม ..  ดังที่ได้อธิบายผ่านมาแล้ว ในหน้าที่  9 ..

สรุปแล้ว  ไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด  หะดีษทั้ง  2  บทข้างต้นที่ท่านนำมาอ้าง  จึงไม่สามารถจะใช้เป็นหลักฐานเรื่อง  “การทำบุญบ้านคนตาย”  ดังความเข้าใจของท่านได้ …

อีกบทหนึ่งของหะดีษเกี่ยวกับเรื่องการกินเลี้ยงเพื่อส่งบุญให้แก่ผู้ตาย ที่มีผู้นำมาอ้างกันในอดีต จนกลายเป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่พักหนึ่ง  ก็คือ  หะดีษของท่านอาศิม บิน กุลัยบ์,   ที่รายงานจากบิดาของท่าน คือท่านกุลัยบ์ บิน ชิฮาบ …  ซึ่งตามรายงานที่นำมาอ้างกันนั้น ท่านอัต-ติบรีศีย์  ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  “มิชากาตุ้ล มะศอเบี๊ยะห์”  ของท่าน,   เป็นหะดีษที่  5942  มีข้อความว่า …

عَنْ عَاصِمِ بْنِ كُلَيْبٍ عَنْ أَبِيْهِ عَنْ رَجُلٍ مِنَ اْلأَنْصَارِ  قَالَ  :  خَرَجْنَا مَعَ رَسُوْلِ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فِىْ جَنَازَةٍ،  فَرَأَيْتُ رَسُوْلَ اللَّـهِ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَهُوَ عَلَى الْقَبْرِ يُوْصِى الْحَافِرَ يَقُوْلُ :  أَوْسِعْ مِنْ قِبَلِ رِجْلَيْهِ،  أَوْسِعْ مِنْ قِبَلِ رَأْسِهِ،  فَلَّمَا رَجَعَ إِسْتَقْبَلَهُ دَاعِى امْرَأَتِهِ  فَأَجَابَ وَنَحْنُ مَعَهُ،   فَجِىْءَ بِالطَّعَامِ فَوَضَعَ بَدَهُ ثُمَّ وَضَعَ الْقَوْمُ  فَأَكَلُوْا …… اَلْحَدِيْثَ   رَوَاهُ أَبُوْ دَاوُدَ وَالْبَيْهَقِىُّ فِىْ  (( دَلاَئِلِ النُّبُوَّةِ ))

จากท่านอาศิม บิน กุลัยบ์  จากบิดาของท่าน,  จากชายชาวอันศอรฺ (มะดีนะฮ์)  คนหนึ่งซึ่งกล่าวว่า …  “พวกเราได้ออกไป (เพื่อฝัง) ผู้ตายคนหนึ่งพร้อมกับท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม,   แล้วฉันเห็นท่านรอซู้ลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม นั่งที่บนขอบหลุม คอยสั่งคนขุดหลุมว่า  ท่านจงขยายด้านปลายเท้าทั้งสองของเขาให้กว้างอีกนิดซิ, .. ให้ขยายด้านศีรษะของเขาให้กว้างอีกหน่อยซิ …  เมื่อท่านเดินทางกลับ  ก็มี ผู้หญิงของเขา (หมายถึงภรรยาของผู้ตาย) ให้คนมาเชิญท่าน (ไปที่บ้าน)   ท่านก็รับคำ ซึ่งพวกเราก็ไปกับท่านด้วย,   แล้วมีการยกเอาอาหารมาวางไว้  ท่านก็เอามือหยิบอาหารและผู้คนก็หยิบอาหาร  แล้วทั้งหมดก็ร่วมกินอาหารนั้น …. (จนจบหะดีษ) …

((บันทึกรายงานโดย ท่านอบู ดาวูด และท่านอัล-บัยฮะกีย์ ในหนังสือ ดะลาอิ ลุ้ล นุบูวะฮ์))…

นี่คือ  ข้อความจากหนังสือ  “มิชกาตุ้ล มะศอเบี๊ยะห์”  ของท่านอัต-ติบรีศีย์ ..

แล้วก็มีท่านผู้รู้บางท่าน ได้ถือโอกาสนำเอาหะดีษบทนี้,  โดยเฉพาะจากข้อความที่ว่า .. : إِسْتَقْبَلَهُ دَاعِى امْرَأَتِهِ ซึ่งแปลว่า ..  “ผู้หญิง (ภรรยา) ของเขา (คือของผู้ตาย) ให้คนมาเชิญท่านนบีย์ (และพรรคพวกไปทานอาหารกันที่บ้านของนาง ซึ่งก็คือ บ้านผู้ตาย) ..  แล้วท่านนบีย์ก็ไปทานอาหารตามคำเชิญนั้น ซึ่งจากข้อความดังกล่าวนี้   แสดงว่า ท่านนบีย์ก็เคยไปทานอาหารบ้านผู้ตายหลังจากฝังเสร็จแล้วเหมือนกัน …

แต่ก็มีผู้ท้วงติงว่า  ข้อความในหนังสือมิชกาตุ้ลมะศอเบี๊ยะห์ที่ว่า إِمْرَأَتِـهِ (ซึ่งแปลว่า  “ผู้หญิงของเขา” ..  ดังที่ผมเน้นตัวหนาและขีดเส้นใต้ไว้นั้น) ไม่ถูกต้อง,   เพราะมีการเพิ่มเติมสรรพนามคำว่า  “ของเขา”..  (คือพยัญชนะ هِ ที่อยู่หลังคำว่า  إِمْرَأَةٍ จนกลายเป็น إِمْرَأَتِهِ) เข้ามา   จนทำให้ข้อความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง,  ซึ่งข้อความที่ถูกต้องจะไม่มีสรรพนาม (พยัญชนะ “ฮา สระอี” ) ตัวนั้น .. คือจะมีเพียงคำว่า  إِمْرَأَةٍ ซึ่งแปลว่า  “ผู้หญิงคนหนึ่ง”  .. เพียงอย่างเดียว ….

โดยนัยนี้  เมื่อเราได้ตัดคำสรรพนาม هِ ที่แปลว่า  “ของเขา”  อันเป็นส่วนที่เพิ่มเติมเข้ามาทิ้งไป ก็จะทำให้รูปประโยคมีความหมายเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง .. คือจะมีรูปสำนวนเป็นภาษาอฺรับว่า  إِسْتَقْبَلَهُ دَاعِى امْرَأَةٍ ซึ่งมีความหมายว่า ..   ผู้หญิงคนหนึ่ง ให้คนมาเชิญท่านนบีย์ไป (ทานอาหาร) ที่บ้าน ..  และตามความหมายนี้ แสดงว่า   ผู้หญิงคนดังกล่าว ไม่มีส่วนสัมพันธ์ใดๆกับผู้ตาย    ดังนั้น การที่ท่านนบีย์ไปทานอาหารที่บ้านของนาง จึงไม่ใช่ไปทานอาหารที่บ้านผู้ตายดังที่อ้างกัน ….

ประเด็นเรื่องคำสรรพนาม هِ (ของเขา)  ดังกล่าวนี้  จำได้ว่า มีความขัดแย้งกันอยู่นานพอสมควรว่าเป็นข้อความเดิมของหะดีษอย่างแท้จริงหรือเป็นข้อความที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ในหนังสือ  มิชกาตุ้ล มะศอเบี๊ยะห์ เล่มนั้น …  แล้วสุดท้าย ทุกอย่างก็ค่อยๆเงียบหายไปเองในที่สุด …

เพราะเพียงแต่, .. ถ้าตัดคำว่า  “ทิษฐิ”  ออกไปเสียอย่างเดียวเท่านั้น  เรื่องนี้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาขัดแย้งแต่อย่างใด  เนื่องจากท่านอัต-ติบรีศีย์ ผู้เขียนหนังสือ  “มิชกาตุ้ล มะศอเบี๊ยะห์”  ก็ไม่ใช่เป็นผู้บันทึกรายงานหะดีษบทนี้มาตั้งแต่ต้น,   ท่านเพียงแต่ไป  “คัดลอก”  หะดีษนี้มาจาก  “ผู้อื่น”  ที่เป็นผู้บันทึกจริงๆมาอีกทอดหนึ่ง ..  ดังที่ท่านอัต-ติบรีศีย์เอง  ได้ระบุเอาไว้ตอนท้ายหะดีษบทนี้แล้วว่า ..   ((บันทึกรายงานโดย  ท่านอบู ดาวูด  และท่านอัลบัยฮะกีย์ ในหนังสือ ดะลาอิลุ้ล นุบูวะฮ์”)) …  ซึ่งตรงนี้ ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า  ท่านได้ไป  “คัดลอก”  หะดีษบทนี้มาจากท่านผู้บันทึกทั้งสองท่านนั้น ….

ดังนั้น  จึงมิใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่เราจะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหนังสือทั้ง  2  เล่มนั้นว่า  อันสรรพนามคำว่า  “ของเขา”  ที่เรานำมาโต้เถียงกันแทบเป็นแทบตายนั้น  มันมีอยู่จริงในหนังสือ  “ต้นฉบับ”  ทั้งสองเล่มนั้นหรือเปล่า ? ..  หรือว่าถูกเพิ่มเติมมาทีหลังในหนังสือมิชกาตุ้ล มะศอเบี๊ยะห์ ? …

แต่ปัญหาก็มีอยู่อีกว่า  แล้วหนังสือต้นฉบับทั้งสองเล่มนั้น  มีให้เราตรวจสอบหรือเปล่าล่ะ ? …

เอาเถิด  พวกเราส่วนใหญ่อาจจะไม่มีหนังสือเหล่านั้นเพื่อตรวจสอบ   แต่ผมคิดว่า ผมพอจะมี,  และนักวิชาการอีกหลายท่านก็คงจะมี …

ความจริง หะดีษของท่านอาศิม บิน กุลัยบ์บทนี้   มิใช่จะมีบันทึกเฉพาะในหนังสือสุนันของท่านอบูดาวูด,  และหนังสือ ดะลาอิลุ้ล นุบูวะฮ์ ของท่านอัล-บัยฮะกีย์ ดังการอ้างของเจ้าของหนังสือ  “มิชกาตุ้ล มะศอเบี๊ยะห์”  เท่านั้น   แต่ยังมีผู้อื่นที่ได้บันทึกหะดีษนี้ไว้อีก  2  ท่าน .. รวมแล้วทั้งหมดเป็น  4  ท่านด้วยกัน ดังต่อไปนี้ …

  • Ø ท่านอบู ดาวูด ในหนังสือ “อัส-สุนัน” หะดีษที่  3332
  • Ø ท่านอัล-บัยฮะกีย์ ในหนังสือ  “ดะลาอิลุ้ล นุบูวะฮ์”  เล่มที่ 6  หน้า  310,   พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ดารุลกุตุบ อัล-อิลมียะฮ์,  กรุงเบรุต
  • Ø ท่านอิหม่ามอะห์มัด ในหนังสือ “อัล-มุสนัด”  เล่มที่  5  หน้า  293
  • Ø ท่านอัด-ดารุกุฏนีย์ ในหนังสือ “อัส-สุนัน”  เล่มที่  4  หน้า  286

ส่วนหนังสืออื่นๆตามที่มีการอ้างอิงกันเกี่ยวกับหะดีษบทนี้  อาทิเช่น  หนังสือสุบุลุส สลาม,  หนังสือนัยลุ้ลเอาฏอรฺ,  หนังสืออัล-บิดายะฮ์ วัล-นิหายะฮ์,  หนังสือฟัตหุ้ล อัลลาม,  หนังสือเอานุ้ล มะอฺบูด,  หนังสือนัศบุรฺ รอยะฮ์  เป็นต้น    ก็ล้วนแต่เป็นหนังสือที่อยู่ในสถานะเดียวกันกับหนังสือมิชกาตุ้ล มะศอเบี๊ยะห์ของท่านอัต-ติบรีศีย์  ..  คือ ไป “คัดลอก”  หะดีษนี้มาจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งจากหนังสือต้นฉบับ  4  เล่มข้างต้นเหมือนกัน  ผมจึงไม่จำเป็นจะต้องไปอ้างอิงหนังสือคัดลอกเหล่านั้นให้เสียเวลาอีก ….

และเมื่อผมได้ไปตรวจสอบดูหะดีษบทนี้จากหนังสือต้นฉบับตามที่ระบุนามมาทั้ง  4  เล่มแล้ว  ปรากฏว่า ทุกเล่ม ไม่มีคำสรรพนาม هِ (ฮาสระอี) ที่แปลว่า ของเขา ระบุเอาไว้เลยแม้แต่เล่มเดียว,  รวมทั้งหนังสือ  “คัดลอก”  ทั้งหมดที่ผมกล่าวมาเมื่อตะกี้นี้ ก็ไม่มีเล่มใดระบุสรรพนามว่า  “ของเขา”  เอาไว้เช่นเดียวกัน …

มิหนำซ้ำ  ในการบันทึกของท่านอะห์มัดและท่านอัด-ดารุกุฏนีย์  จะมีข้อความขยายเพิ่มเติมว่า ..  “ผู้หญิง ชาวกุเรช คนหนึ่ง ให้คนมาเชิญท่านนบีย์ไป …”

แสดงว่าในกรณีนี้  บรรดาผู้ที่ไปคัดลอกหะดีษบทนั้นมาจากต้นฉบับทั้ง  4  เล่มตามที่ผมได้ระบุชื่อตำรามาแล้วนั้น ..  ผู้ที่ผิดพลาดในการคัดลอก — ด้วยการเพิ่มคำสรรพนาม  “ฮาสระอี”  เข้ามาต่อกับคำว่า إِمْرَأَةٍ (ผู้หญิงคนหนึ่ง) จนกลายเป็น  إِمْرَأَتِـهِ : ผู้หญิง(ภรรยา) ของเขา (ผู้ตาย) —  มีอยู่คนเดียว คือท่านอัต-ติบรีศีย์, ..  ซึ่งตามความเข้าใจของผม มองว่า  ความผิดพลาดดังกล่าวไม่น่าจะเกิดจากการคัดลอกของท่าน   แต่น่าจะเกิดผิดพลาดตอนเรียงพิมพ์มากกว่า ..

และ, ..  เมื่อเรามองลักษณะคำในภาษาอฺรับแล้ว คงจะยอมรับว่า  การเผลอพิมพ์พยัญชนะ هِ  ต่อท้ายคำว่า مْرَأَةٍ إ(ที่แปลว่า ผู้หญิงคนหนึ่ง)  ให้กลายเป็น  إِمْرَأَتِهِ ซึ่งแปลว่า  “ผู้หญิง (ภรรยา) ของเขา”  มีโอกาสเป็นไปได้อย่างง่ายดายที่สุด …

สรุปแล้วก็คือ  หะดีษที่กล่าวมาข้างต้นทั้ง  3  บท   ไม่ว่าจะเป็นหะดีษของท่านอัล-อะห์นัฟ บิน ก็อยซ์,   หะดีษของท่านฏอวูส บิน กัยซาน,   และหะดีษของท่านอาศิม บิน กุลัยบ์   ไม่มีบทใด สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานเรื่องการกินเลี้ยงที่ญาติของผู้ตายเป็นเจ้าภาพ  เพื่อส่งบุญไปให้ผู้ตายดังที่มีการอ้างกัน  ได้เลยแม้แต่บทเดียว …

วัลลอฮุ อะอฺลัม

อันเนื่องมาจากผู้อ่านบางท่านอาจมีข้อสงสัยว่า  ข้ออ้างของผมที่ว่า  นักวิชาการ ทั้ง  4  มัษฮับ มีทัศนะสอดคล้องกันว่า  การจัดเลี้ยงอาหารเพื่อส่งบุญให้กับผู้ตาย  เป็นบิดอะฮ์ที่ต้องห้ามหรือน่ารังเกียจนั้น   ผมเอาข้อมูลมาจากไหน ? ….

เรื่องนี้  ความจริงท่านอาจารย์ประสาน หมัดอาดัม (ขออัลลอฮ์โปรดเมตตาต่อท่านด้วย) ก็ได้เคยเขียนตีแผ่ทัศนะของนักวิชาการทั้งสี่มัษฮับดังกล่าวไว้แล้วในหนังสือชื่อ  “การทำบุญเนื่องจากการตาย” ของท่าน    ผมจึงไม่จำเป็นจะต้องไปชี้แจงรายละเอียดใดๆให้เสียเวลาอีก …

แต่ในที่นี้  ผมจะขอยกตัวอย่างทัศนะของนักวิชาการทั้ง  4  มัษฮับบางท่านมาให้ท่านผู้อ่านได้เห็นกันดังต่อไปนี้ …

(1).  มัษฮับหะนะฟีย์

1.  ท่านอัล-กุรฏุบีย์  (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 671)  ได้กล่าวในหนังสือ  “อัต-ตัซกิเราะฮ์”  หน้า  102  ว่า …

وَمِنْهُ الطَّعَامُ الَّذِىْ يَصْنَعُهُ أَهْلُ الْمَيِّتِ الْيَوْمَ فِىْ يِوْمِ السَّابِعِ،  فَيَجْتَمِعُ لَهُ النَّاسُ،  يُرِيْدُ بِذَلِكَ الْقُرْبَةَ لِلْمَيِّتِ وَالتَّرَحُّمَ لَهُ،  وَهَذَا مُحْدَثٌ لَمْ يَكُنْ فِيْمَا تَقَدَّمَ،  وَلاَ هُوَ مِمَّا يَحْمَدُهُ الْعُلَمَاءُ،  قَالُوْا وَلَيْسَ يَنْبَغِىْ لِلْمُسْلِمِيْنَ أَنْ يَقْتَدُوْا بِأَهْلِ الْكُفْرِ  وَيَنْهَى كُلُّ إِنْسَانٍ أَهْلَهُ عَنِ الْحُضُوْرِ لِمِثْلِ هَذَا ..

وَقَالَ أَحْمَدُ بْنُ حَنْبَلٍ :  هُوَ مِنْ فِعْلِ الْجَاهِلِيَّةِ !  قِيْلَ لَهُ :  أَلَيْسَ قَدْ قَالَ النَّبِىُّ صَلَّى اللَّـهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ  ” إِصْنَعُوْا ِلآلِ جَعْفَرٍ طَعَامًا ؟   فَقَالَ  :  لَمْ يَكُوْنُوْا هُمُ اتَّخَذُوْا !   إِنَّمَا اتُّخِذَ لَهُمْ”   فَهَذَا كُلُّهُ وَاجِبٌ عَلَى الرَّجُلِ أَنْ يَمْنَعَ أَهْلَهُ مِنْهُ  وَلاَ يُرَخِّصَ لَهُمْ،   فَمَنْ أَبَاحَ ذَلِكَ ِلأََهْلِهِ فَقَدْ عَصَى اللَّـهَ عَزَّ وَجَلَّ،  وَأَعَانَهُمْ عَلَى اْلإِثْمِ وَالْعُدْوَانِ  …….

“และส่วนหนึ่งจากพฤติกรรมของพวกญาฮิลียะฮ์(พวกอนารยชนยุคก่อนอิสลาม) ก็คือ เรื่องอาหารซึ่งลูกเมียผู้ตายในสมัยปัจจุบัน ได้ปรุงขึ้นมาในวันที่ 7 (หรือวันที่ 3,  วันที่ 10,  วันที่ 40,  หรือครบ 100 วันแห่งการตาย)  ..  แล้วผู้คนก็มาชุมนุมกินอาหารนั้นโดยมีจุดประสงค์เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้ตายและแสดงความเมตตาต่อผู้ตาย   นี่คือ อุตริกรรม (บิดอะฮ์) ที่ไม่เคยปรากฏในยุคที่ผ่านมา และก็มิใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่นักวิชาการยกย่องสรรเสริญแต่อย่างใด,   พวกเขา (นักวิชาการ) กล่าวว่า  ไม่สมควรอย่างยิ่งที่มุสลิมเราจะไปเลียนแบบพวกกาฟิรฺ   และสมควรที่มนุษย์ทุกคนจะต้องห้ามปรามลูกเมียของเขาจากการไปร่วมในงานประเภทนี้

ท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ หัมบัลกล่าวว่า ..  นี่คือ พฤติกรรมของพวกญาฮิลียะฮ์!  มีผู้ท้วงติงท่านว่า ..  ก็ท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม เคยกล่าวไว้มิใช่หรือว่าให้พวกท่านทำอาหารไปให้ครอบครัวของญะอฺฟัรฺ ..   ท่านอิหม่ามอะห์มัดตอบว่า ..  (คำสั่งนั้น) ไม่ใช่ให้พวกเขา (ครอบครัวผู้ตาย) ทำอาหาร(เลี้ยงพวกเรา)  แต่ให้ (พวกเรา) ทำอาหารไปเลี้ยงพวกเขาต่างหาก, ..  ทั้งหมดนี้ คือสิ่งวาญิบสำหรับผู้ชายจะต้องห้ามปรามลูกเมียของเขาจากการกระทำมัน   และหากผู้ใดผ่อนผันเรื่องนี้แก่ลูกเมียของเขา  แน่นอน, เขาคือผู้ทรยศต่อพระองค์อัลลอฮ์ผู้ทรงเกรียงไกรและยิ่งใหญ่,   ทั้งยังเป็นการสนับสนุนลูกเมียให้ทำบาปและการเป็นศัตรูกัน ….

คำพูดของท่านอัล- กุรฺฏุบีย์ ที่ว่า ..   “นี่คือ อุตริกรรม (บิดอะฮ์) ที่ไม่เคยปรากฏในยุคที่ผ่านมา” ..  ถือเป็นการปฏิเสธหลักฐานทั้งมวลของผู้ที่พยายามจะอ้างว่า  เคยมีการกินเลี้ยงบ้านผู้ตายมาแล้ว ในยุคของท่านนบีย์ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิวะซัลลัม และในยุคของบรรดาเศาะหาบะฮ์ ร.ฎ. …

2.  ท่านอิบนุล ฮุมาม  ได้กล่าวในหนังสือ  “ชัรฺหุ้ล ฮิดายะฮ์”  ว่า ..

وَيُكْرَهُ اتِّخَاذُ الضِّيَافَةِ مِنْ أَهْلِ الْمَيِّتِ،   ِلأَنَّهُ مَشْرُوْعٌ فِى السُّرُوْرِ لاَ فِى الشُّرُوْرِ وَهِىَ بِدْعَةٌ مُسْتَقْبَحَةٌ….

“เป็นเรื่องน่ารังเกียจที่จะให้ครอบครัวผู้ตายเป็นฝ่ายเลี้ยงอาหาร !   เพราะการเลี้ยงอาหารนั้น เป็นบทบัญญัติในกรณีมีความสุข (เช่นตอนแต่งงาน,   ตอนมีบุตร,  เป็นต้น)  มิใช่เป็นบทบัญญัติในยามทุกข์ (เช่นตอนพ่อแม่หรือลูกเมียตาย  เป็นต้น) …. มันจึงเป็นเรื่องบิดอะฮ์ที่น่าเกลียด ……..”

(จากหนังสือ  “กัชฟุช ชุบฮาต”  ของท่านมะห์มูดหะซัน รอเบี๊ยะอฺ  หน้า 192).

(2).  มัษฮับมาลิกีย์

1.  ท่านอิหม่ามอบูบักรฺ อัฏ-ฏ็อรฺฏุชีย์  (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 530)  ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  “อัล-หะวาดิษ วัล-บิดะอฺ”  หน้า  170  ว่า …

فَأَمَّا إِذَا أَصْلَحَ أَهْلُ الْمَيِّتِ طَعَامًا وَدَعَوُاالنَّاسَ إِلَيْهِ  فَلَمْ يُنْقَلْ فِيْهِ عَنِ الْقُدَمَاءِ شَىْءٌ،   وَعِنْدِىْ أَنَّهُ بِدْعَةٌ وَمَكْرُوْهَةٌ …..

“อนึ่ง  การที่ครอบครัวผู้ตายปรุงอาหารขึ้น และเชิญชวนให้คนมากินอาหารนั้น  เรื่องนี้ ไม่ปรากฏมีรายงานมาจากประชาชนยุคก่อนๆแต่อย่างใด,   และในทัศนะของฉัน มันเป็นเรื่องบิดอะฮ์ และเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ” …

2.  ในหนังสือ  “มัตนุ คอลีล” ของนักวิชาการมัษฮับมาลิกีย์ มีกล่าวเอาไว้ว่า …

وَأَمَّا اْلإجْتِمَاعُ عَلَى طَعَامِ بَيْتِ الْمَيِّتِ  فَبِدْعَةٌ مَكْرُوْهَةٌ إِنْ لَمْ يَكُنْ فِى الْوَرَثَةِ صَغِيْرٌ،   وَإِلاَّ فَهُوَ حَرَامٌ  …..

“อนึ่ง  การไปชุมนุมกินอาหารกันที่บ้านคนตาย  ถือเป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจ หากว่าในทายาทผู้ตายไม่มีเด็กเล็ก (ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ), …   แต่ถ้า (ผู้ตาย) มี (ทายาทที่ยังเล็กอยู่)   ก็ถือว่า (การไปชุมนุมกินอาหารที่บ้านผู้ตาย) เป็นเรื่องต้องห้าม (หะรอม)”

(จากหนังสือ  “อัล-มันฮัลฯ”  อันเป็นหนังสืออธิบายสุนันของท่านอบูดาวูด  เล่มที่ 4   ส่วนที่ 8  หน้า  272) …

(3).  มัษฮับชาฟิอีย์

1.  ท่านอิหม่ามนะวะวีย์ (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ.  676)  ได้กล่าวไว้ในหนังสือ  “อัล-มัจญมั๊วะอฺ”   เล่มที่  5  หน้า  320  ว่า …

قَالَ صَاحِبُ الشَّامِلِ وَغَيْرُهُ  :  وَأَمَّا إِصْلاَحُ أَهْلِ الْمَيِّتِ طَعَامًا وَجَمْعُ النَّاسِ عَلَيْهِ  فَلَمْ يُنْقَلْ فِيْهِ شَىْءٌ  وَهُوَ بِدْعَةٌ غَيْرُ مُسْتَحَبَّةٍ …..

“ท่านเจ้าของหนังสือ  “อัช-ชามิล”  (มีชื่อว่า อบูนัศรฺ, มะห์มูด บิน อัล-ฟัฎล์ อัล-อิศบะฮานีย์,   มีชื่อรองว่า  อิบนุ ศ็อบบาค   เป็นชาวเมืองอิศฟาฮาน,  สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 512) และนักวิชาการท่านอื่นๆกล่าวว่า …  อนึ่ง  การที่ครอบครัวผู้ตายได้จัดปรุงอาหารขึ้น และเชิญชวนผู้คนให้มาร่วมรับประทานกัน  พฤติกรรมนี้ ไม่เคยปรากฏมีรายงานหลักฐานมาแต่ประการใด,   ดังนั้น มันจึงเป็นบิดอะฮ์ที่ไม่ชอบตามหลักการศาสนา” ..

2.  ท่านเช็ค อิบนุหะญัรฺ อัล-ฮัยตะมีย์  (สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. 974)  ได้กล่าวในหนังสือ  “ตุ๊ห์ฟะตุ้ล มุห์ตาจญ์”  ว่า ….

وَمَا اعْتِيْدَ مِنْ جَعْلِ أَهْلِ الْمَيِّتِ طَعَامًا لِيَدْعُواالنَّاسَ إِلَيْهِ  بِدْعَةٌ مَكْرُوْهَةٌ كَإِجَابَتِهِمْ لِذَلِكَ

“สิ่งซึ่งปฏิบัติกันมาจนกลายเป็นประเพณีไปแล้ว .. อันได้แก่การที่ครอบครัวผู้ตายปรุงอาหารขึ้นมา เพื่อเชิญให้ผู้คนมาร่วมรับประทานนั้น  มันคือบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจ ..  เช่นเดียวกับการตอบรับคำเชิญชวนไปร่วมในงานเลี้ยงนี้ (ก็เป็นบิดอะฮ์ที่น่ารังเกียจเช่นเดียวกัน) …

(จากหนังสือ  “อิอานะฮ์ อัฏ-ฏอลิบีน”   เล่มที่  2  หน้า  146)

3.  ท่านอะห์มัด บิน ซัยนีย์ ดะห์ลาน  อดีตมุฟตีย์ของมัษฮับชาฟิอีย์แห่งนครมักกะฮ์  ได้กล่าวตอบเมื่อมีผู้ถามปัญหาเรื่องการเลี้ยงอาหารบ้านผู้ตายว่า …

نَعَمْ،  مَايَفْعَلُهُ النَّاسُ مِنَ اْلإِجْتِمَاعِ عِنْدَ أَهْلِ الْمَيِّتِ وَصُنْعِ الطَّعَامِ مِنَ الْبِدَعِ الْمُنْكَرَةِ الَّتِىْ يُثَابُ عَلَى مَنْعِهَا وَالِى اْلأَمْرِ …..

“ใช่,  สิ่งซึ่งประชาชนกำลังกระทำกัน  อันได้แก่การไปชุมนุมกัน ณ ครอบครัวผู้ตาย  และมีการปรุงอาหาร (เพื่อเลี้ยงดูกัน)  ถือว่า เป็นหนึ่งจากบิดอะฮ์ต้องห้าม ..  ซึ่งผู้นำที่ต่อต้านเรื่องนี้ จะได้รับผลบุญตอบแทน ………”

(จากหนังสือ  “อิอานะฮ์ อัฏ-ฏอลิบีน”   เล่มที่  2  หน้า  145)

ท่านเช็คอะห์มัด ซัยนีย์ ดะห์ลาน  ยังได้กล่าวในการตอบคำถามนี้อีกตอนหนึ่งว่า

وَلاَ شَكَّ أَنَّ مَنْعَ النَّاسِ مِنْ هَذِهِ الْبِدْعَةِ الْمُنْكَرَةِ فِيْهِ إِحْيَاءٌ لِلسُّنَّةِ وَإِمَاتَةٌ لِلْبِدْعَةِ، وَفَتْحٌ لِكَثِيْرٍ مِنْ أَبْوَابِ الْخَيْرِ وَغَلْقٌ لِكَثِيْرٍ مِنْ أَبْوَابِ الشَّرِّ،  فَإِنَّ النَّاسَ  يَتَكَلَّفُوْنَ كَثِيْرًا يُؤَدِّىْ إِلَى أَنْ يَكُوْنَ ذَلِكَ الصُّنْعُ مُحَرَّمًا ….

“และไม่มีข้อสงสัยใดๆเลยว่า   การห้ามปรามประชาชนจาก (การกระทำ) สิ่งบิดอะฮ์ต้องห้ามอย่างนี้  คือการฟื้นฟูซุนนะฮ์และเป็นการทำลายบิดอะฮ์,   และยังเป็นการเปิดประตูแห่งความดีอย่างมากมาย และเป็นการปิดประตูแห่งความชั่วอย่างมากมาย,เพราะว่าประชาชนต่างก็ทุ่มเท(ในเรื่องนี้) กันอย่างหนัก  จนการกระทำดังกล่าวอาจนำไปสู่การปฏิบัติที่ต้องห้ามได้” …

(จากหนังสือ  “อิอานะฮ์ อัฏ-ฏอลิบีน”   เล่มที่  2  หน้า  146)

(4).  มัษฮับหัมบะลีย์

1.  มีรายงานมาเกี่ยวกับเรื่องการกินเลี้ยงที่บ้านผู้ตายจากท่านอิหม่ามอะห์มัด อิบนุ หัมบัลว่า ….

قَالَ أَحْمَدُ  :  هُوَ مِنْ فِعْلِ الْجَاهِلِيَّةِ،   وَأَنْكَرَهُ شَدِيْدًا …

ท่านอิหม่ามอะห์มัดกล่าวว่า  :  “มัน (การให้บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารแขก) เป็นพฤติการณ์ของพวกญาฮิลียะฮ์ ! ” ..   และท่านจะแอนตี้มันอย่างรุนแรง …

(จากหนังสือ  “อัล-มันฮัล อัล-อัษบุลเมารูด ฯ”   เล่มที่  4  ส่วนที่  8  หน้า  273)

2.  ท่านอิบนุ กุดามะฮ์  ได้กล่าวในหนังสือ  “อัล-มุฆนีย์”   เล่มที่  2  หน้า  413 ว่า …

فَأَمَّا صُنْعُ أَهْلِ الْمَيِّتِ طَعَامًا لِلنَّاسِ فَمَكْرُوْهٌ،  ِلأَنَّ فِيْهِ زِيَادَةً عَلَى مُصِيْبَتِهِمْ وَشُغْلاً أِلَى شُغْلِهِمْ وَتَشَبُّهًا بِصُنْعِ أَهْلِ الْجَاهِلِيَّةِ،  وَيُرْوَى أَنَّ جَرِيْرًا وَفَدَ عَلَى عُمَرَ فَقَالَ  :  هَلْ يُنَاحُ عَلَى مَيِّتِكُمْ ؟ قَالَ : لاَ،   قَالَ  :  وَهَلْ يَجْتَمِعُوْنَ عِنْدَ أَهْلِ الْمَيِّتِ وَبَجْعَلُوْنَ الطَّعَامَ ؟  قَالَ  :  نَعَمْ،   قَالَ  :  ذَلِكَ النَّوْحُ  ……

“อนึ่ง  การที่ครอบครัวผู้ตายปรุงอาหารขึ้นมาให้ประชาชน(รับประทานกัน) นั้น  ถือว่า  เป็นเรื่องน่ารังเกียจ,    เนื่องจากมันเป็นการซ้ำเติมเคราะห์กรรมของพวกเขามากยิ่งขึ้น  ซ้ำยังเป็นการเพิ่มภาระพวกเขาซึ่งหนักอยู่แล้วให้หนักเข้าไปอีก   และยังเป็นการลอกเลียนการกระทำของพวกญาฮิลียะฮ์อีกด้วย,    มีรายงานมาว่า  ท่านญะรีรฺ (บิน อับดุลลอฮ์ อัล-บะญะลีย์) ร.ฎ.  ได้มาหาท่านอุมัรฺ (อิบนุล ค็อฏฏอบ ร.ฎ.) แล้วท่านอุมัรฺถามว่า ..  เคยมีการนิยาหะฮ์ (คร่ำครวญอย่างหนัก) ให้แก่ผู้ตายของพวกท่านบ้างไหม ? ท่านญะรีรฺก็ตอบว่า  ไม่เคย, ..   ท่านอุมัรฺก็ถามต่อไปอีกว่า ..  แล้วเคยมีการไปชุมนุมกันที่บ้าน/ครอบครัวผู้ตาย  และมีการปรุงอาหารเลี้ยงกันไหม ?   ท่านญะรีรฺตอบว่า   เคยครับ, ท่านอุมัรฺก็บอกว่า …  นั่นแหละคือการนิยาหะฮ์ (อันเป็นเรื่องต้องห้าม) ละ” …

หมายเหตุ

คำว่า  مَكْرُوْهٌ (น่ารังเกียจ) .. ที่นักวิชาการแทบทุกท่าน ใช้เป็นสำนวนกล่าวควบคู่กับคำว่า  “บิดอะฮ์”  ที่ผ่านมานั้น  โปรดเข้าใจด้วยว่า ความหมายของมันมิใช่มีหมายถึงสิ่ง “มักโระฮ์” อันเป็นศัพท์ที่เข้าใจกันโดยทั่วๆไปว่า  เป็นสิ่งที่  “ถ้าไม่ทำก็ได้บุญ  แต่ถ้าทำก็ไม่บาป” …

ทว่า ความหมายของมันก็คือ  เป็น “บิดอะฮ์ที่ต้องห้าม”  หรือหะรอม นั่นเอง …

มีกล่าวในหนังสือ  “กัชฟุช ชุบฮาต”   หน้า  193  ว่า  …

ثُمَّ إِنَّ الظَّاهِرَ أَنَّ الْكَرَاهَةَ تَحْرِيْمِيَّةٌ،  إِذِ اْلأَصْلُ فِىْ هَذَاالْبَابِ خَبَرُ جَرِيْرٍ رَضِىَ اللهُ عَنْهُ،  وَالنِّيَاحَةُ حَرَامٌ،  وَالْمَعْدُوْدُ مِنَ الْحَرَامِ حَرَامٌ،  وَأَيْضًا إِذَا اُطْلِقَ الْكَرَاهَةُ  يُرَادُ مِنْهَا التَّحْرِيْمِيَّةُ

“ประการต่อมา   โดยรูปการณ์แล้ว คำว่า  مَكْرُوْهٌ (น่ารังเกียจ) ..  จากคำกล่าวของนักวิชาการข้างต้นนั้น หมายถึง เป็นเรื่องหะรอม (ต้องห้าม),    ทั้งนี้ เพราะพื้นฐานของเรื่องนี้ (คือเรื่องที่ว่า การไปชุมนุมกินเลี้ยงกันที่บ้านผู้ตาย เป็นเรื่อง   مَكْرُوْهٌ นั้น)  ได้แก่หะดีษของท่านญะรีรฺ ร.ฎ. (ที่กล่าวว่า ..  พวกเรา (เศาะหาบะฮ์) นับว่า การไปร่วมชุมนุมกันที่ครอบครัว/บ้านผู้ตายและมีการปรุงอาหารเลี้ยงกันนั้น  เป็นส่วนหนึ่งของนิยาหะฮ์) ..   และการนิยาหะฮ์นั้น เป็นเรื่องหะรอม,   ดังนั้น สิ่งที่ ถูกนับว่า เป็นส่วนหนึ่งนิยาหะฮ์ ก็ต้องหะรอมเช่นเดียวกัน,..   และอีกอย่างหนึ่งก็คือคำว่า  مَكْرُوْهٌ นี้  เมื่อถูกกล่าวโดยปราศจากข้อแม้ใดๆ  (ตามหลักการแล้วถือว่า)  ความหมายของมันก็คือ หะรอม (ต้องห้าม)” ….

สรุปแล้ว การที่บ้านคนตายทำอาหารเลี้ยงชาวบ้านโดยเข้าใจว่าเป็นการส่ง  “บุญ”  ไปให้คนตายนั้น  ตามคำกล่าวของนักวิชาการทั้ง  4  มัษฮับถือเป็นเรื่องหะรอม,    คนที่ถูกเชิญไปกินก็หะรอม,    คนที่ช่วยเชือดวัวเชือดแพะก็หะรอม,   คนที่ไปช่วยงาน .. ช่วยล้างจาน .. ช่วยขูดมะพร้าวในงานนี้ ก็หะรอม,   แม้กระทั่งคนที่ไม่ไปเอง  แต่อนุญาตให้ลูกเมียไปแทนก็หะรอม …

แต่เอ๊ ! .. ก็เมื่อ  “อูละมาอ์”  จริงๆท่านกล่าวสอดคล้องตรงกันว่า การที่บ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหารเป็นเรื่องหะรอม .. แล้วยังมี “อูละมอ” บ้านเราบางคนไปสนับสนุนบ้านคนตายให้จัดเลี้ยงอาหารกันครึกโครมทุกวันนี้ …

ตกลงจะให้เข้าใจว่า  ท่านสนับสนุนชาวบ้านให้  “ทำบุญ”  หรือ  “ทำบาป”  กันแน่ครับเนี่ย ? …

ที่สำคัญ  เมื่อชาวบ้านตาดำๆต้องสูญเสียพ่อ, แม่, ลูก, เมียหรือญาติพี่น้องก็น่าสงสารพออยู่แล้ว  แต่ท่านก็ยังอุตส่าห์  “เชียร์”  ให้พวกเขาต้อง “เสียทั้งเงิน, รับทั้งบาป” อีก  ..  เพียงเพื่อความอร่อยลิ้นของตนเองและของบุคคลไม่กี่คนเพียงแค่มื้อเดียว

มันจะไม่เป็นการ “ใจดำ” ไปไม่หน่อยหรือครับ  พระคุณท่าน ? …

หรือว่า .. “ที่บ้าน” ของท่านทำกับข้าวไม่อร่อย สู้กินที่บ้านคนตายไม่ได้เพราะมีกับข้าว “พิเศษ” กว่าและรสชาติอร่อยกว่าที่บ้าน ก็สารภาพมาเสียตรงๆ …

อ. ปราโมทย์ ศรีอุทัย (อบู อัล-หะบีบ) …

คืนวันศุกร์   ที่  4  พ.ค.  2549.       

 

ใส่ความเห็น